คลัง เตรียมออกมาตรการกระตุ้นศก.เดือนนี้

17 ส.ค. 2563 | 06:24 น.

รองนายก คาดได้ข้อสรุปมาตรการฟื้นฟูศก. ภายในส.ค.นี้ ด้านรมว.คลัง เข้ากระทรวงวันแรก ชู 3 นโยบายเร่งด่วน ดูแลค่าครองชีพ-อุ้มเอสเอ็มอี-กระตุ้นท่องเที่ยว

          ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในเดือนส.ค. นี้ จะสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19(ศบศ.) พิจารณาในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยมาตรการที่จะออกมาจะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกด้าน แต่จะไม่ใช่มาตรการการจ่ายเงินเยียวยาเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ถึงแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมก่อน

           พร้อมกันนี้ยังพร้อมรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชน ที่ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น มาตรการช้อปช่วยชาติด้วย แต่ภาคเอกชนควรส่งข้อมูล รายละเอียดถึงข้อดีของการออกมาตรการดังกล่าวมาให้พิจารณาประกอบด้วยว่า จะส่งผลดีกับประชาชนและภาคเอกชนอย่างไร

           มาตรการกระตุ้นมีแน่นอน เราได้มีการเตรียมไว้แล้ว แต่ยังบอกตอนนี้ไม่ได้ เพราะต้องรอดูด้วยว่าวัคซีนจะมาเร็วหรือไม่ ถ้ามีมาเร็ว ความเชื่อมั่นก็สูงขึ้น มาตรการจ่ายเงินก็ไม่จำเป็นเพราะการบริโภคจะฟื้นตัว การลงทุนจะกลับมา คนจะเลิกประหยัด ออกเดินทางมากขึ้น แต่ถ้าทุกอย่างยังไม่จบ อะไรที่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่ม หรือกู้เพิ่ม ก็ต้องทำ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ตอนนี้เงินกู้ที่มีเพียงพอในกรอบที่กำหนดไว้”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

คลัง เตรียมออกมาตรการกระตุ้นศก.เดือนนี้

           ส่วนการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 500,000 ล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก ยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการดังกล่าวได้นั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า พร้อมไปพิจารณาแต่ต้องกลับไปดูในหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขก่อนว่าเป็นอย่างไร ก่อนจะพิจารณาว่าจะสามารถปรับหลักเกณฑ์ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนดังกล่าวได้มากขึ้นหรือไม่

          ด้านนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นยังมีความท้าทายใน 3 ด้าน คือ 1.เศรษฐกิจหดตัว เห็นได้จากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ที่เศรษฐกิจหดตัวมากที่สุด จากจำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่ลดลง การส่งออกยังชะลอตัว

          2.อัตราการว่างงานเพิ่ม โดยข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเป็น 745,000 คน หรือ 2% ของกำลังแรงงานที่มีแรงงานมากกว่า 2 ล้านคน ที่ไม่ได้รับเงินเดือน แต่มีงานรอที่จะกลับไปทำ และ 3.เม็ดเงินที่ใช้จ่ายได้มีจำกัด โดยเม็ดเงินงบประมาณรายจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณฯ และพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแล้ว และในช่วงที่เหลือมีเม็ดเงินงบประมาณที่จำกัด การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมีความคุ้มค่า

คลัง เตรียมออกมาตรการกระตุ้นศก.เดือนนี้

 

            ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงมีนโยบายเร่งด่วน ที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ต้องแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงการจ้างงานให้กับประชาชนในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองของผู้ประกอบการรายเล็ก โดยจะเข้าไปเสริมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้ให้ ซึ่งคาดว่ามาตรการในการช่วยเหลือนั้นจะมีความชัดเจนภายใน 2-3 วันนี้

            และการกระตุ้นการท่องเที่ยว และการบริโภค ที่จะเน้นการกระตุ้นจากในประเทศ ชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวและการบริโภคจากต่างประเทศที่หายไป  

           “ผมจะพยายามดูแลไม่ให้ประเทศมีหนี้ ผมจะดูแลเงินในกระเป๋าสตางค์ของประเทศไม่ให้ก่อหนี้เพิ่ม เหมือนผมดูแลเงินในกระเป่าของตัวเอง ขอให้มั่นใจว่าเราจะทำงานอย่างระมัดระวังและบริหารให้อยู่ในกรอบการเงินการคลังที่ดี และจะประคับประคองให้ดีในทุกๆ วัน จนกว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกตินายปรีดี กล่าว

           ส่วนทิศทางนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไปนั้น จะต้องวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด-19 โดยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้มีการเติบโตที่ลดความเหลื่อมล้ำรวมถึงดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ควบคู่กับรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% ต่อจีดีพี และเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน

           นอกจากนี้จะต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆปรับปรุงกฎหมายและโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม พัฒนากลไกการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และกำกับดูแลสถาบันเฉพาะกิจของรัฐให้ดำเนินการตามพันธกิจท่ามกลางปัจจัยท้าทาย

            ส่วนที่มีกระแสวิพากวิจารณ์กันว่า กระทรวงการคลังถังแตกนั้น นายปรีดี ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้นและไทยไม่เคยถังแตก เพราะเป็นไปตามปกติที่จะมีรายรับและรายจ่ายเข้ามาเหลื่อมระยะเวลากัน ซึ่งอาจจะทำให้มีเงินเพิ่มและลดเป็นบางช่วงเวลาได้ ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด

คลัง เตรียมออกมาตรการกระตุ้นศก.เดือนนี้