ในที่สุดการ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การคลังประจำปี 2563 ก็เป็นฟางเส้นสุดท้ายสู่การโบกมือลา จากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพียง 27 วันของนาย ปรีดี ดาวฉาย หลังจากที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต โอนนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร
นอกจากนั้นยังย้ายนายจำเริญ โพธิยอดผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง และโอนนางวรนุช ภู่อิ่ม ที่ปรึกษาด้านการบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่า กรมธนารักษ์ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้รายชื่อโยกย้ายทั้ง 4 คน ยังเป็นรายชื่อเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากวันที่นำเสนอกับที่ประชุมครม.สัญจร ที่จ.ระยองเมื่อ 25 สิงหาคม ซึ่งในวันนั้นก่อนการประชุมครม. มีกระแสข่าวเรื่องความขัดแย้งระหว่างนายปรีดีกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลัง ซึ่งต้องการให้นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้าดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมสรรพสามิตแทน ดังนั้นเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรายชื่อหน้าห้องที่ประชุมครม.ได้ นายกรัฐมนตรีจึงให้นำเรื่องกลับมาใหม่
เบื้องหลังการลาออกครั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการรอบนี้มี 2 โผ คือโผของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนายปรีดี และโผของนายสันติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงมีความขัดแย้งตั้งแต่คนแต่งตั้ง รวมถึงการขัดแย้งระหว่างข้าราชการที่จะถูกโยกย้ายด้วย ทั้งนายพชร อนันตศิลป์ ที่จะถูกโยกไปที่กรมศุลกากร และนายลวรณที่จะถูกโยกไปที่กรมสรรพสามิต
นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า ก่อนเข้ารับตำแหน่ง นายปรีดีได้แจ้งต่อนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ต้องการรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลัง เพื่อให้การทำงานบริหารงานอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และเมื่อเข้ามาทำงานยังมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องการแต่งตั้ง ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทนนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนปัจจุบันที่จะครบวาระในวันที่ 8 ตุลาคม 2563 เนื่องจากอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
ทั้งนี้คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีนายปรีดีเป็นประธานกรรมการ มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารคนใหม่ ซึ่งว่ากันว่า นายธนารัตน์ เป็นทายาทสายตรงของนายอภิรมย์ โดยโตมาจากสายไอทีของแบงก์ด้วยกัน ขณะที่ฝ่ายการเมือง ที่มีนายสันติดูแลรับผิดชอบสนับสนุนให้นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารอีกคนหนึ่ง แต่ไม่ได้รับเลือก เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่า เพิ่งรับตำแหน่งรองผู้จัดการได้ไม่นาน
“เมื่อตัวเองทำงานไม่ได้ และเจอการเมืองมีปัญหา การแต่งตั้งโยกย้าย นายปรีดีจึงตัดสินใจลาออก ทั้งที่เมื่อบ่ายโมงของวันที่ 1 กันยายน นายปรีดียังโทรสั่งงานกับแบงก์รัฐบางแห่งด้วย และเป็นการลาออกทั้งที่ยังไม่มีแบ่งงานในกระทรวงกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังด้วยซ้ำ”
ทั้งนี้นายปรีดีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 และเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563 โดย 3 วันแรกของการเข้าทำงานได้เลือกศาลาริมน้ำ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เป็นสถานที่ทำงาน เนื่องจากยังไม่มีฤกษ์เข้ากระทรวง และวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ นายปรีดีได้ทำพิธีไหว้ศาลที่กระทรวงการคลังเป็นการส่วนตัว ก่อนเข้าปฏิบัติงานครั้งแรกในการประชุมผู้บริหารระดับสูงในวันที่ 17 สิงหาคม 2563
นายปรีดี ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีคลังคนแรกที่รับตำแหน่งสั้นที่สุด เพราะก่อนหน้านั้นเคยมีนายพจน์ สารสิน ดำรงตำแหน่งเพียง 4 วัน ช่วงวันที่ 23-26 กันยายน 2500 พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) ดำรงตำแหน่ง 9 วัน ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-7 ธันวาคม 2494 และนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ดำรงตำแหน่ง 21 วัน ระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม-13 พฤศจิกายน 2540
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การลาออกของนายปรีดีคงไม่กระทบกับเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง หรือภาคธุรกิจของประเทศ เพราะนายปรีดี เองเพิ่งเข้ารับตำแหน่งยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา แต่สิ่งที่ต้องรอดูคือ รัฐบาลจะดำเนินการอะไรออกมาในสิ่งที่ภาคเอกชนเสนอไปมากกว่า
สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า ผลกระทบต่างๆ หรือภาพลักษณ์ของการลงทุนในสายตานักงทุนนั้นคงยังจะไม่กระทบ แต่ในแง่ของภาพลักษณ์ของรัฐบาลน่ากังวล เพราะต่อไปคงไม่มีภาคเอกชนหรืออาจจะต้องคิดหนักที่จะเข้ามาร่วมงานหรือมานั่งเป็นรัฐมนตรี หรือร่วมงานกับรัฐบาล เพราะแรงเสียดทานเยอะในเชิงการเมือง ซึ่งต้องติดตามว่า ใครจะมารับตำแหน่งนี้ต่อไป
ขณะที่นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การลาออกของนายปรีดี ดาวฉาย จากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลได้รับความเชื่อมั่นที่ลดลง เพราะบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเกิดปัญหาในการทำงาน ซึ่งถ้าจะให้นายปรีดี เข้ามาทำงาน แต่ไม่ให้อำนาจเขาในการทำงาน หรือไฟเขียวให้ทำงาน บังคับให้อยู่ในกรอบ ทั้งๆที่เขาไม่ใช่นักการเมือง ก็คงอยู่ไม่ได้ ต้องเลือกลาออกไป
"การลาออกที่เกิดขึ้น ก็ส่งผลแนวทางๆต่างที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยเฉพาะในเรื่องของซอฟต์โลน เช่นการขอชลอการจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้น ออกไปอีก 6 เดือน ที่เอกชนได้มีการหารือในการประชุมครม.สัญจรที่นายปรีดี ได้รับปากจะผลักดันให้ ก็ต้องสะดุดไป ต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ซึ่งเอกชนก็หวังว่าพอจะรมต.คลัง คนใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ และเข้าใจบริบทของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบ้าง"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ปรีดี" ลาออกไม่สะเทือนหุ้นไทย
ทีมปรีดี ทยอยเก็บของ หลังลาออก
ป่วนทั่วธ.ก.ส.“มือดี”ให้บอร์ดเขียนใบลาออกไม่ลงวันที่ “ปรีดี”เบรก
“สันติ พร้อมพัฒน์” พูดชัดขอนั่งเก้าอี้ รมว.คลัง
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,606 วันที่ 3 - 5 กันยายน พ.ศ. 2563