ความท้าทายของขุนคลังคนต่อไป

05 ก.ย. 2563 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2563 | 02:08 น.

สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่เพียงถูกรุมเร้าจากปัจจัยลบภายนอก อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากแล้ว ในประเทศเองก็ประสบปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำได้ดี จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกก็ตาม

 

ที่ประทุขึ้นก็คงจะเป็นปัญหาการเมืองในประเทศ ทั้งการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจากกลุ่มเยาวชนและปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จนนำมา ซึ่งการปรับครม. 2/2 ของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งครั้งนั้นก็สร้างความกังวลไม่ต่างกันเพราะเป็นการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลกำลังเตรียมการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากหลายสำนักเห็นตรงกันว่า วิกฤติรอบนี้จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าวิกฤติิต้มยำกุ้งเสียอีกบางสำนักมองว่า จะติดลบสูงถึง 12% เลยทีเดียว 

 

การเปลี่ยนม้ากลางศึก จึงทำให้กระบวนการออกมาตรการชะงักไป ซึ่งยังดีที่ไม่นานนักก็สามารถหาขุนพลเศรษฐกิจคนใหม่ภายใต้ขุนคลัง “ปรีดี ดาวฉาย” แต่รับตำแหน่งได้เพียง 27 วัน เข้าร่วมประชุมครม.ได้เพียง 3 ครั้ง “ปรีดี ดาวฉาย” ก็ต้องก้าวลงจากเก้าอี้ขนคลัง หลังจากมีปัญหาสุขภาพ แต่ลึกๆมองกันว่า ไม่สามารถทนแรงเทียดทานทางการเมืองได้ เพราะเข้ามาช่วงฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพอดี  

 

เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงถูกจับตาเป็นอย่างมากว่า ต้องได้คนระดับไหน จึงจะสามารถทนแรงเสียดทานทางการเมือง และเดินหน้าประสานการทำงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไม่สะดุด

 

ปรีดี ดาวฉาย

นักวิชาการอย่างนายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) มองว่า คนที่จะมาเป็นขุนคลังคนใหม่ไม่ควรมาจากฝ่ายการเมือง เพราะในสภาวการณ์เช่นนี้ ผู้ที่จะเข้ามาต้องเป็นที่ยอมรับและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งภาคเอกชนและประชาชน รวมถึงจะต้องมีไอเดียในการหาแหล่งรายได้หรือหาช่องทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศในยามวิกฤตbแบบนี้ได้ 

 

นอกจากนั้นต้องเป็นผู้ที่สามารถบริหารจัดกับความร้อนแรงทางการเมืองได้ พร้อมๆ กับการบริหารจัดการข้าราชการที่ต้องมีกฎระเบียบมากมายด้วย ซึ่งจะต้องเฟ้นหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดของการดำเนินนโยบาย หรืออย่างน้อยต้องมีความชัดเจนโดยเร็ว

 

“แน่นอนว่า ต้องกังวลว่า การสานต่อนโยบายต่างๆ จะสะดุดในช่วงนี้ ฉะนั้นต้องหาคนเข้ามาโดยเร็ว ระยะสั้นควรจัดการผลักดันเงินเยียวยาที่ยังไม่ถึงมือประชาชนให้ออกเร็วที่สุด และเงินฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท ซึ่งใช้ไปเพียง 90,000 ล้านบาท ให้ออกให้มากขึ้น รวมถึงต้องเข้ามาดูงบประมาณปี 2564 ให้ใช้ไปในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ให้มากที่สุดด้วย” นายนณริฏกล่าว

ต่างจากนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ระบุว่าการทำงานของกระทรวงการคลังจะไม่สะดุดลงเพราะสศค.ได้รับโจทย์จากนายปรีดีมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ต้องดูแลสภาพคล่องของเอสเอ็มอี การท่องเที่ยว การจ้างงานและการบริโภคภายในประเทศ

 

ล่าสุดที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ศบศ.)ได้ออกมาตรการลดการว่างงานในนักศึกษาจบใหม่ และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศในโครงการคนละครึ่ง จึงเชื่อว่า หากรัฐมนตรีกคลังคนใหม่มา ก็พร้อมสานต่อนโยบายเหล่านี้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ธีระชัย" ชี้เก้าอี้ "รมว.คลัง" สะท้อนวิกฤติศรัทธาตัวนายก

‘ปรีดี’ทิ้งเก้าอี้คลัง ฉุดความเชื่อมั่นรัฐบาล

"ปรีดี" ลาออกไม่สะเทือนหุ้นไทย

กลางเดือนตุลาคมเปิดเว็บคนละครึ่งแจกเงิน3,000 บาท

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,607 วันที่ 6 - 9 กันยายน พ.ศ. 2563