6เดือนค้ำหนี้แสนล้าน บสย.ลุยช่วยเอสเอ็มอี

04 ต.ค. 2563 | 04:24 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2563 | 11:50 น.

บสย.รับข้อเสนอกกร. จ่อขยายเพดานคํ้าหนี้ PGS9 จาก 30% แต่ขอเจอครึ่งทาง 40-45% เหตุต้องใช้งบประมาณเพิ่ม แถมวงเงินคํ้าประกันลด เผย 6 เดือนรัฐคํ้าหนี้แล้ว 1.08 แสนล้าน

หลังจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ออกมาเรียกร้องให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายเพดานการจ่ายค่าประกันชดเชยความเสียหายหรือ ขยาย Max Claim จากปัจจุบัน 30% เป็น 50% เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

 

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บสย.ได้รับอนุมัติวงเงินงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) 9,000 ล้านบาทให้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft loan พลัส (ซอฟต์โลน พลัส) วงเงินรวม  57,000 ล้านบาท

 

เพื่อค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนธปท. ซึ่งไม่สามารถปรับเงื่อนไขการค้ำประกันประกันเพิ่มจาก 30% ได้ เพราะเป็นมติครม.ไปแล้ว

 

6เดือนค้ำหนี้แสนล้าน บสย.ลุยช่วยเอสเอ็มอี

 

อย่างไรก็ตาม บสย.อยู่ระหว่างจัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS9) วงเงิน 2 แสนล้านบาท จึงจะรับข้อเสนอของกกร.ที่ให้ขยาย Max Claim จากปัจจุบัน 30% เป็น 50% ไปเสนอในโครงการ PGS9 โดยจะพยายามปรับปรุง PGS9 ให้ได้มากที่สุด

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นโครงการยาวิเศษตอบโจทย์ทุกอาการ แต่อาจต้องเจอกันครึ่งทาง เช่น ขยาย Max Claim เป็น 40-45% เพราะต้องเข้าใจว่า การขยายเพิ่ม Max Claim นั้น จะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้น และวงเงินค้ำประกันจะปรับลดลง

“อย่างเช่น PGS9 เบื้องต้น ตกลง Max Claim ไว้ที่ 30% ยอดค้ำประกันได้ถึง 2 แสนล้านบาท จะสามารถสร้างสินเชื่อในระบบได้ถึง 3 แสนล้านบาท แต่หากเพิ่ม Max Claim เป็น 40% ยอดค้ำประกันจะลดลงมาอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท และหากเพิ่ม Max Claim เป็น 50% ก็จะได้วงเงินค้ำประกันแค่ 1 แสนล้านบาท สามารถสร้างสินเชื่อให้ระบบได้ 2 แสนล้านบาท”

 

6เดือนค้ำหนี้แสนล้าน บสย.ลุยช่วยเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ โครงการ PGS9 ยังต้องรอหลังเดือนตุลาคม โดยเบื้องต้นที่ตกลงกันไว้ จะใช้เงินงบประมาณ 37,500 ล้านบาท สำหรับ Max Claim ไม่เกินอัตรา 30% และบสย.สามารถทำยอดค้ำประกันได้ 2 แสนล้านบาท ซึ่งช่วงต้นปีบสย.เคยทำ “โครงการ บสย.เอสเอ็มอี ข้างทาง” ขยายเพดาน Max Claim 40% เป็นครั้งแรกและครั้งประวัติศาสตร์ของไทย

 

เพื่อให้ธนาคารเติมสินเชื่อให้ลูกหนี้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบาง ที่มีภาระหนี้ค้างจ่ายแต่ละพอร์ตกับธนาคาร โดยสามารถปิดโครงการภายใน 2 เดือนด้วยยอดค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในช่วงพักชำระหนี้ จึงยังไม่เกิดความเสียหายที่ต้องชดเชย

 

“ปัญหาที่แท้จริง ที่ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนได้ ปัจจัยหลักเพราะสถาบันการเงินยังคงกังวลเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แต่มองว่า สถาบันการเงินเองก็ควรที่จะต้องแยกแยะ หรือแบ่งกลุ่มการช่วยเหลือด้วย หากเอสเอ็มอีมีปัญหาเพราะโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ก็ควรที่จะเป็นกลุ่มที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ แต่หากมีปัญหาเรื่องส่วนตัว หรือวิธีการดำเนินธุรกิจของตนเอง กลุ่มนี้ก็อาจจะพิจารณาแยกไปว่า สมควรจะต้องเข้าไปช่วยหรือไม่”

 

ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ทหารไทย หรือ ทีเอ็มบีกล่าวว่า ข้อเสนอในการเพิ่ม Max Claim ของกกร. ถ้าออกมาก็เป็นเรื่องดี เพราะขณะนี้้มีปัญหามาก จำเป็นต้องใช้หลายเครื่องมือควบคู่กัน โดยเฉพาะ ซอฟต์โลนจะเป็นกระสุนสำหรับธุรกิจรายใหญ่ นำไปช่วยเติมสภาพคล่องกับซัพพลายเชน ซึ่งรายใหญ่จะรู้จักคู่ค้า และซัพพลายเชนดดีว่า รายไหนที่จะอยู่รอดได้ ซึ่งหากทำได้ก็จะมีประสิทธิผลมาก

 

6เดือนค้ำหนี้แสนล้าน บสย.ลุยช่วยเอสเอ็มอี

“กรณีบอกว่า ซอฟต์โลนต์ไม่เวิร์คนั้น จากผล Survey พบว่า กลุ่มที่แบงก์เสนอเงินกู้ให้ลูกค้า แต่ถูกปฎิเสธไม่รับเงินกู้ถึง 70% อีกกลุ่มที่แบงก์ประเมินแล้วต้องเบรคสินเชื่อ แต่ลูกค้าอยากได้วงเงิน ซึ่งมีสัดส่วนแค่ 5% ปัญหาพื้นฐาน จึงไม่ใช่เรื่องเงินกู้ แต่เป็นปัญหาเรื่องรายได้ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการก่อหนี้”

 

 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขยายกรอบการค้ำประกันของบสย. น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สถาบันการเงินเกิดความมั่นใจ และกล้าปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวครอบ|คุลมไปถึงลูกค้ารายใหม่ด้วย จะยิ่งทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อออกมาได้เพิ่มขึ้น

 

6เดือนค้ำหนี้แสนล้าน บสย.ลุยช่วยเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ การขยายการค้ำประกันดังกล่าวต้องประเมินด้วยว่า สถาบันการเงินจะสามารถปล่อยเพิ่มได้กี่ราย และได้มีการผลักดันการปล่อยสินเชื่อจริงหรือไม่ และข้อเสนอจะได้รับการตอบสนองหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

ส่วนการที่กระทรวงการคลังยังไม่มีผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีประจำกระทรวงก็คงไม่น่าจะเกิดปัญหาแต่อย่างใด เพราะมีนายสุพัฒนพงษ์ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจที่กำกับดูแลกระทรวงอยู่ แต่จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอน และการพิจารณาเป็นสำคัญ

 

 “ต้องไม่ลืมว่า การเพิ่มการค้ำประกันไม่ได้หมายความว่า จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามงบประมาณ เพราะหากเศรษฐกิจกลับมาดี ผู้ประกอบการก็สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ การค้ำประกันก็ไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายก็คงไม่มาก”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศบศ.เร่งทุกมาตรการ เติมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

เตรียมใช้เงินกู้ 6 หมื่นล้านบาท ให้บสย.ช่วยเอสเอ็มอี

สสว. ปรับแผนช่วยเอสเอ็มอีใหม่ หลังไร้เงาสมคิด

บี้มัดหนี้เอสเอ็มอี 1.2 ล้านล้าน

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,609  วันที่ 13 -16 กัันยายยน  พ.ศ. 2563