11 ตุลาคม 2563 ความคืบหน้ากรณีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้อาศัยอำนาจในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ “รมว.คลัง” ทำหนังสือลงวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอเรื่องการแต่งตั้งผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คนใหม่ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาเพียง 1 วัน
ล่าสุดแหล่งข่าวจากจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เพิ่มเติมว่า นอกจากวาระแต่งตั้งผู้จัดการธ.ก.ส.คนใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 นายสันติ ยังทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอเรื่องการแต่งตั้งกรรมในคณะกรรมการ(บอร์ด)นโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ซึ่งมีอำนาจกำกับดูแล กองทุนหมุนเวียน หรือทุนหมุนเวียน ที่เป็นเงินนอกงบประมาณกว่า 4 ล้านล้านบาท ให้ที่ประชุมครม.พิจารณาอีกหนึ่งวาระ
ปัจจุบันมีทุนหมุนเวียนจำนวนทั้งสิ้น 115 ทุน สินทรัพย์รวม 4,390,347.04 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น สินทรัพย์ที่มีลักษณะสภาพคล่องและเงินลงทุนระยะยาว 3,644,708.66 ล้านบาท และสินทรัพย์อื่นที่นอกเหนือจากสภาพคล่องและเงินลงทุนระยะยาว 745,638.39 ล้านบาท
ตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 กำหนดให้ คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ
(2) ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ
(3) ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ
(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนสามคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการเงิน การคลัง เศรษฐศาสตร์ บริหาร หรือกฎหมาย
ให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมบัญชีกลางแต่งตั้งข้าราชการในกรมบัญชีกลาง จํานวนสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) กําหนดนโยบายและแผนการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
(2) พิจารณากลั่นกรองการขอจัดตั้งทุนหมุนเวียน
(3) กํากับติดตามการบริหารทุนหมุนเวียน
(4) เสนอให้มีหลักเกณฑ์ในการกําหนดจํานวนเงินสะสมสูงสุดสําหรับทุนหมุนเวียนต่าง ๆตามความเหมาะสมต่อคณะรัฐมนตรี โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
(5) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน
(6) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการนําทุนหรือผลกําไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
(7) ประกาศกําหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลทุนหมุนเวียนและการจัดทํารายงานทางการเงินของทุนหมุนเวียน
(8) กําหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเงิน การพัสดุ ตลอดจนการกําหนดค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการต่างๆ ของคณะกรรมการบริหาร ผู้บริหารทุนหมุนเวียน พนักงานและลูกจ้าง
(9) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย