คลังออกกฎหมาย ดันไทยขึ้นชั้นศูนย์กลางการเงินโลก

26 ธ.ค. 2567 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2567 | 07:39 น.

คลังเปิดรับฟังความคิดเห็น กฎหมายศูนย์กลางทางการเงิน หวังดึงต่างชาติลงทุนไทยเพิ่ม กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเม็ดเงินรายได้รัฐ แถมเพิ่มแรงงานมีทักษะในไทย

จากการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ในการพัฒนาประเทศในระยะกลางและระยะยาว มุ่งเน้นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต และหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยเร็ว โดยปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Industry Transformation) พัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ (New Growth Engine)

การจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) เป็นหนึ่งในนโยบายที่จะช่วยพัฒนาบทบาทให้ประเทศไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก โดยรัฐบาลจะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินของโลก

พร้อมผลักดันการยกร่างกฎหมายชุดใหม่ที่มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ออกแบบสิทธิประโยชน์ที่จูงใจนักลงทุนและพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน (Ecosystem) โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก

ล่าสุด กระทรวงการคลังจึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางทางการเงิน) ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 ไปจนถึง 9 มกราคม 2568 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางทางการเงินประกอบด้วย 9 หมวด 96 มาตรา

 

ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมาย

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกและดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจในไทย จึงต้องมีการกำหนดแนวทางในการส่งเสริมและดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมทางการเงินที่กำหนดเป็นธุรกิจเป้าหมาย

โดยเป็นการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ การกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลที่เหมาะสม การพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินระดับโลก 

ความมุ่งหมายและผลสัมฤทธิ์ที่พึงประสงค์

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ทัดเทียมกับศูนย์กลางทางการเงินในต่างประเทศ เช่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น สามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินให้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้

โดยให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เว้นแต่กิจกรรมการมีส่วนร่วมในตลาด (Market Participant) ซึ่งการดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศ จะทำให้ทรัพยากรบุคคลมีทักษะด้านการเงินเพิ่มขึ้นทั้งแรงงานในประเทศและแรงงานจากต่างประเทศ

เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศ อันจะเป็นรากฐานในการพัฒนาโครงสร้างทางธุรกิจการเงินของไทยต่อไปในอนาคต

ผู้ได้รับผลกระทบจากร่างพ.ร.บ.ศูนย์กลางทางการเงิน 

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ:

  • ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น  มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการเข้ามาประกอบธุรกิจ ทำให้สามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น
  • เกิดการพัฒนาธุรกิจทางการเงินในประเทศไทย มีจำนวนตำแหน่งงานด้านการเงินเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเกิดธุรกิจด้านการเงินและธุรกิจเกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนด้านการเงินเพิ่มมากขึ้น
  • เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินและด้านอื่น ๆ ที่จะก่อให้เกิดการลงทุนและ การจ้างงาน และผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบด้านสังคม:

  • แรงงานที่มีทักษะด้านการเงินจากต่างประเทศให้เข้าทำงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการถ่ายทอดทักษะ องค์ความรู้ และเทคโนโลยี (Technology Transfer) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินในประเทศไทย