ในงานสัมมนา Wealth Forum Chapter II NEXT IS NOW : จับกระแสกลยุทธ์ สู่ความมั่งคั่งวิถีใหม่ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ไปแล้ว ที่ติดลบถึง 12.2% และเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ที่แม้จะยังไม่กลับเป็นบวก แต่ก็จะติดลบน้อยลงกว่าที่ผ่านมาได้
สะท้อนได้จาก ภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรม จากที่เคยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ลดลงเป็นอย่างมาก การบริโภคในประเทศ ที่ได้รับผลบลวกจากการออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ทั้งมาตรการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และจ่ายเงินเข้าสู่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน สะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ได้ดีขึ้น การขายรถยนต์เริ่มฟื้นตัว รายได้ภาคการเกษตรเริ่มดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 การใช้น้ำมันก็กลับไปใกล้เคียงก่อนเกิดโควิดแล้ว สะท้อนว่าภาคขนส่งกำลังจะฟื้นตัว จึงทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มจะดีขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจไทยและโลกจะกลับมาพลิกฟื้นได้ในระยะเวลาอันใกล้ แต่ภาครัฐยังคงจำเป็นต้องรักษาสมดุลให้ดีระหว่างการฟื้นเศรษฐกิจและการดูแลด้านสาธารณสุข ที่นับเป็นความท้ายทายอย่างมาก รวมไปถึงการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง
ขณะเดียวกันภาครัฐอาจต้องใช้วิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ด้วยการปรับโครงสร้างภาคการท่องเที่ยว โดยการเลือกนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อที่จะเข้ามาไทย เพื่อให้รายได้จากการท่องเที่ยวยังอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท เช่นเดิม แต่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ส่วนภาคธุรกิจ ก็จะต้องปรับตัว เพื่อรองรับการกลับมาของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการพัฒนาธุรกิจไปสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า ไทยจะยังไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและเร่งเครื่องพัฒนาเศรษฐกิจได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนที่ผ่านมา โดยปีนี้จะยังคิดลบมากกว่า 10% อยู่ เพราะการแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะการนำวัคซีนป้องกันโรคมาใช้ อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ฉะนั้นสิ่งที่ภาคธุรกิจจะต้องรับมือ คือการรักษาสภาพคล่องให้อยู่รอดให้ได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่มีสภาพคล่องไม่มากนัก
“สิ่งที่อยากเห็นภาคธุรกิจทำ คือ การเก็บเงินสด ไว้เป็นทุนหมุนเวียน ขณะเดียวกันต้องลดต้นทุน เพราะหากต้นทุนสูง ราคาขายสินค้าก็จะแพง ก็จะแข่งขันได้ยาก และที่สำคัญต้องกระจายความเสี่ยง เพราะความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง ต้องมีแผนสำรอง และอย่าถ้อถอย”นายสมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ยังมองว่า ไทยควรใช้โอกาสที่เป็นประเทศที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาโปรโมทเพื่อดึงนักลงทุนและนักท่องเที่ยว รวมถึงการรักษาพยาบาลด้วย เพื่อให้ไทยกลับมีโอกาสฟื้นเศรษฐกิจกลับมาได้เร็วกว่าประเทศอื่น