ยังคงเกิดการเทขายของ นักลงทุนต่างชาติ อย่างต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทย ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากดดันการลงทุน ทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนโยกเงินเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย แต่ต้องยอมรับสภาพกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่า ซึ่งแน่นอนว่า การลงทุนในตลาดหุ้นได้รับผลตอบแทนค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงที่มีค่อนข้างมากเช่นกัน และยังผันผวนได้ตลอดเวลาตามกระแสในแต่ละวัน อย่างเช่นปัจจุบันที่รอลุ้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ
จากข้อมูลการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม-4 พฤศจิกายน 2563 พบว่า นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 304,424.75 ล้านบาท เป็นการขายสุทธิสะสมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับการขายสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติในแต่ละปี โดยช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2563 ขายสุทธิรวม 816,805 ล้านบาท ขณะที่ปี 2556-2563 เป็นการขายต่อเนื่อง ยกเว้นปี 2559 ที่มีสถานะซื้อสุทธิเพียงปีเดียว
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การขายสุทธิ ของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เป็นการขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับการขายสะสมในแต่ละปี สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองหุ้นไทยลง ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยรวม NVDR อยู่ที่ 21.50% ซึ่งในอนาคต มองว่า ไม่น่าจะขายไปมากกว่านี้ และมีโอกาสกลับมาซื้อได้ในปีหน้า โดยเฉพาะหากนายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานา ธิบดีของสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไบเดนชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้เงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย เนื่องจากนโยบายของไบเดน อย่างการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลจะทำให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐลดลง ส่วนนโยบายการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างประนีประนอม ซึ่งจะลดความตึงเครียดลงได้ ขณะที่นโยบายด้านการดูแลควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีความระมัดระวังมากกว่า ส่งผลต่อความชัดเจนของเศรษฐกิจในปีหน้าให้ฟื้นตัวได้ดี
“หลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง มาจากหลายปัจจัย ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตเหมือนเดิม จากเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเป็นโครงสร้างแบบเก่า ทำให้นักลงทุนลดการถือครองลง ซึ่งหากเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ถือว่าขายสุทธิค่อนข้างมาก แต่หากเทียบกับนํ้าหนักใน MSCI ASEAN ที่มีสัดส่วน 2% จะดีกว่าฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ขณะที่จีนและอินเดียเงินยังไหลเข้า เพราะมีขนาดที่ใหญ่กว่า หากจะเปรียบเทียบให้ชัด ก็ต้องมาดูที่มาร์เก็ตแคปประกอบด้วย”
บล.เอเซีย พลัส จำกัดระบุว่า ตลาดหุ้นไทยยังเป็นการเก็งกำไรในระยะสั้นตราบที่ยังขาดแรงสนับสนุนจากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงยังมีปัจจัยกดดันอีก 2 เรื่องคือ ไวรัสโควิด-19 และการเมืองในประเทศ หากเป็นลักษณะแบบนี้อาจจะขึ้นไม่ได้ไกล และมีโอกาสกลับมาทดสอบ 1,200 จุด อีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานแข็งแกร่ง ที่ราคา Laggard ซึ่งน่าจะมี Momentum ไปต่อ และฝ่าฟันความผันผวนได้ อย่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ต้อนรับไบเดน หุ้นไทยเปิดภาคพุ่ง 22 จุด
ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย 4 ปีต่อเนื่อง 5.5 แสนล้านบาท
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,625 วันที่ 8 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563