นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) โดยเมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 120,572 ล้านบาท และจำนวนผู้ได้รับซอฟต์โลน 72,182 ราย โดยปัจจุบันทีมงานของธปท.ที่ดูแลซอฟต์โลนอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ว่า ภายใต้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้นจะสามารถปรับปรุงแก้ไขอย่างไร โดยยอมรับว่า การออกมาตรการซอฟต์โลนช่วงแรกนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็ว ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยอำนวยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้เดิมที่มีวงเงินสินเชื่ออยู่กับธนาคารพาณิชย์ แต่สำหรับรายที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจะมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-“ธพว” ส่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วย “SMEs” ภาคใต้ฟื้นธุรกิจ
-เปิดรายละเอียด ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รายละ 5 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม กรณีข้อเรียกร้องจากธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับสินเชื่อซอฟต์โลนของธปท. ที่กำหนดวงเงิน 20%ของยอดหนี้คงค้างสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ถือว่าเป็นระดับต่ำ แต่ การจะพิจารณาปรับวงเงินดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากวงเงินดังกล่าวนั้น เป็นไปตามพ.ร.ก.ของซอฟต์โลนกำหนด
“ตอนนี้แบงก์ชาติดูในเรื่องอื่นๆที่จะสามารถปรับได้เองด้วยประกาศของแบงก์ชาติ ซึ่งอาจจะรวดเร็วกว่า หากมีความชัดเจนจะมาแจ้งให้ทราบอีกครั้ง เร็วๆนี้ เพราะมีกฎหมายกำกับอยู่ซึ่งเราจะต้องList ออกมาว่าอะไรที่สามารถทำให้สินเชื่อซอฟต์โลนเพิ่มขึ้น เช่น ช่วงแรกห่วงเรื่องความเสี่ยงว่า ใครจะมารับCredit Risk หลังจากสองปี เราก็ประสานบสย. หรือความกังวลธุรกิจในตลาด MAIซึ่งเราก็ได้ปรับ ดังนั้นเราก็จะรีบปรับเพราะเราก็เป็นห่วงเหมือนกัน คาดว่าแบงก์ชาติพยายามให้เสร็จภายในปีนี้”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้ผ่อนคลายเกณฑ์ซอฟต์โลนมาตามลำดับ เห็นได้จากการขยายเวลาขอสินเชื่อซอฟต์โลนไปอีกเป็นเวลา 6 เดือนหลังหมดมาตรการ 22 ตุลาคม 2563 ไปจนถึงเดือนเมษายน 2564 รวมถึงยังขยายกรอบการปล่อยสินเชื่อไปสู่บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด MAI รวมทั้งประสานทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันความเสี่ยงหลังจากปีที่ 2
“ซอฟต์โลนรอบแรกครบกำหนด เมื่อ 22ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งตามพ.ร.ก.สามารถต่อได้ 2ครั้ง ตอนนี้ เราต่อรอบที่สองไปแล้ว 6เดือนซึ่งจะครบในเดือนเมษายนปีหน้า ตอนต่อรอบสองก็ได้รับเกณฑ์ให้บริษัทที่อยู่ในตลาดMAIสามารถเข้ามาได้ ระหว่างนี้คงจะอยู่ในกระบวนการพิจาณาของสินเชื่อ และประสานทางบสย.เข้ามา รับความเสี่ยงในปีที่ 3ถึงปีที่ 10 ผ่านโครงการ PGS PLUS ของบสย. แต่ตอนนี้แบงก์กำลังปรับโปรดักต์ โปรแกรมอยู่”นางสาวสุวรรณ กล่าวในที่สุด