เร่งอัดฉีดฟื้นเศรษฐกิจ รัฐควักอีก 3 หมื่นล้าน จัดของขวัญชุดใหญ่

18 พ.ย. 2563 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2563 | 10:13 น.

คลังจัดของขวัญชุดใหญ่ให้คนไทย เตรียมต่ออายุ “คนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ขยายมาตรการหักค่าใช้จ่ายลงทุนเครื่องจักรได้ 250% ออกไปอีก

หลังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ออกมาระบุว่า กำลังเตรียมพิจารณาเปิดโครงการ คนละครึ่ง เฟส 2 ในช่วงต้นปี 2564 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ให้กับประชาชนคนไทย เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย หลังจากที่โครงการรอบแรกประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากร้านค้าและประชาชนทั่วไป และกำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

สำหรับใครที่รอโครงการ คนละครึ่ง เฟส 2 ที่จะใช้เม็ดเงินอีกราว 3 หมื่นล้านบาทนั้น ง่ายๆสำหรับคนที่ลงทะเบียนในคนละครึ่ง เฟสแรกไปแล้ว เพียงรอเวลาที่กระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียน เพียงแค่กดปุ่มยืนยันเข้าร่วมมาตรการเท่านั้น ก็จะได้รับวงเงินเพิ่มจากรัฐบาล เพียงแต่ต้องใช้จ่ายวงเงินที่ได้รับ 3,000 บาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ให้ครบก่อน ส่วนจะมีการเพิ่มวงเงินจาก 3,000 บาทและจะเพิ่มสิทธิ์ให้มากกว่า 10 ล้านคนหรือไม่ ยังต้องรอรายละเอียดอีกครั้งภายในเดือนธันวาคมนี้ จะมีข้อสรุปชัดเจน

 

หักลงทุนเครื่องจักร 250%

ที่ไม่ต้องรอเลยคือ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสิมการลงทุนในประเทศ โดยนาย เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากร ออกมาระบุว่า กรมสรรพากรจะขยายเวลามาตรการให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรมาหักลดหย่อนภาษีได้ 250% หรือ 2.5 เท่าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่รวมกรณีที่เป็นธุรกิจให้เช่าแบบลิสซิ่ง และลงทุนในเครื่องจักรเพื่อให้เช่าเครื่องจักรนั้นแบบลิสซิ่ง โดยให้หักรายจ่าย 100% แรก หรือ 1 เท่าแรกของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง เป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามเกณฑ์ที่ประมวลรัษฎากรกำหนด และทยอยหักรายจ่ายส่วนเพิ่มเป็นเวลา 5รอบระยะเวลาบัญชี

เร่งอัดฉีดฟื้นเศรษฐกิจ รัฐควักอีก 3 หมื่นล้าน  จัดของขวัญชุดใหญ่

 

“มาตรการดังกล่าวจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ แต่จะขยายออกไปจนถึงเมื่อไหร่ ต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตอนนี้จะให้ลดภาษีคงทำได้ยาก สิ่งที่จะทำได้คือการขยายเวลามาตรการหักลดหย่อนภาษี 2.5 เท่าให้ ซึ่งเชื่อว่า จะจูงใจให้เกิดการลงทุนขึ้นได้”นายเอกนิติกล่าว

 สำหรับที่ผ่านมา กรมสรรพากร เคยออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศปี 2563 ที่ เป็นมาตรการพิเศษที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นยาแรงเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ โดยให้มากถึง 3 ต่อ ประกอบด้วย ต่อที่ 1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ต่อที่ 2 มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และต่อที่ 3 มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งมาตรการเหล่านี้กรมสรรพากรคาดการณ์ว่าจะทำให้กรมสูญเสียรายได้ 6,600 ล้านบาท

 

หนุนลงทุนในประเทศ

ทั้งนี้นายอาคมได้มอบนโยบายว่า ไทยควรใช้โอกาสจากการะบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลง และเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ในการดึงนักลงทุนให้กลับมาลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะในภาวะที่สภาพคล่องในระบบยังมีสูง และต้นทุนทางการเงินต่ำ นักลงทุนก็พร้อมแสวงหาแหล่งลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากไทยสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาได้ ก็จะทำให้การลงทุนของไทยฟื้นตัวขึ้นได้

 

นอกจากนั้น ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ จะมีเรื่องที่จะพิจารณาใน 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ การปรับเงื่อนไขของโครงการเราเที่ยวด้วยกันระลอกใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้น โดยจะขอปลดล็อกเงื่อนไขในการจองตั๋วเครื่องบินในโครงการนี้ใหม่ ที่จะขอให้พิจารณาไม่ต้องผูกติดเงื่อนไขกับจองว่าต้องจองที่พักก่อน จึงจะสามารถใช้สิทธิจองตั๋วเครื่องบินได้

 

แต่จะขอให้คนที่สนใจซื้อตั๋วในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สามารถเข้าไปซื้อตั๋วได้เดินทางได้เลย จะเดินทางไปเช้า-เย็นกลับก็สามารถเดินทางได้ รวมทั้งยังปลดล็อกเงื่อนไขจากเดิมที่การสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% คนซื้อต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อนแล้วไปขอเคลมคืนทีหลัง ซึ่งไม่สะดวก ก็จะขอให้มีการทำระบบเหมือนการจองโรงแรม ที่คนจองจ่าย 60% แล้ว 40% รัฐจะไปจ่ายให้สายการบินเอง เพื่อกระตุ้นให้คนใช้สิทธิจองตั๋วเครื่องบินในโครงการนี้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีคนใช้ไม่ถึง 2 แสนสิทธิ์ จากจำนวน 2 ล้านสิทธิ์ วงเงินไม่เกิน 2 พันบาทต่อสิทธิ์

นอกจากนี้ยังจะมีการหารือถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ อย่างโครงการสูงวัยออนทัวร์ เพิ่มวอลเชอร์ให้กลุ่มคนสูงอายุเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เพิ่มเวาเชอร์ ให้สามารถใช้บริการในสปาได้ด้วย รวมถึงข้อเสนอที่จะเปิดให้โรงแรมที่มีการชำระภาษีอย่างถูกต้อง แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมให้สามารถเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”นั้น

 

ล่าสุดทางสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) มีมติสนับสนุนให้เฉพาะโรงแรมที่ได้รับการผ่อนผันตาม ม.44 และอยู่ระหว่างการขอยื่นจดทะเบียนในช่วงนี้ จนถึงสิงหาคม 2564 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2562 ให้เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้ เพราะเห็นว่าโรงแรมในกลุ่มนี้แสดงเจตนาและมีความประสงค์ที่จะประกอบการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเรื่องนี้คงต้องไปหารือในที่ประชุมศบศ.ด้วย

 

เพิ่มสิทธิ์อีลิทการ์ด

ส่วนเรื่องที่สอง คือ การใช้อีลิทการ์ด เพื่อกระตุ้นการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่จะพิจารณาใน 2 บัตรสมาชิกใหม่ ได้แก่ 1.Elite Card Flex Plus เปิดโอกาสให้คนต่างชาติที่ซื้อบัตรอีลิทการ์ด หรือที่มีอีลิท การ์ด อยู่แล้ว หากลงทุนในไทย อย่างการซื้อพันธบัตรในวงเงิน 1 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ก็มีสิทธิได้ Work Permit (ใบอนุญาตทำงาน) เป็นเวลา 10 ปีหรือ20 ปี ตามอายุบัตรสมาชิกอีลิทการ์ดที่ซื้อ และ2. Elite Card Flex One คือ ถ้าต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย เกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป จะแถมบัตรอีลิทการ์ด ซึ่งโครงการนี้ไม่มีปัญหาหากศบศ.อนุมัติก็สามารถดำเนินการได้เลยส่วน Elite Card Flex Plusหากศบศ.เห็นชอบก็ต้องเสนอครม.พิจารณาต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สุพันธุ์” ยกมือหนุนรัฐบาลเปิด “คนละครึ่ง” เฟส 2

“คนละครึ่ง” กระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4/64 คึกคัก

“แรมโบ้”ปลื้มใจโครงการ“คนละครึ่ง”กระตุ้นเศรษฐกิจ

ร่วม "คนละครึ่งเฟสสอง" ต้องใช้สิทธิ 3000 ให้ครบ

หน้า 1 หนังสือฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,627 วันที่ 15 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563