สรรพสามิต เตรียมทางออกให้ชาวไร่ยาสูบปลูกพืชทดแทน

12 ธ.ค. 2563 | 02:31 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2563 | 09:31 น.

กรมสรรพสามิต เตรียมหาทางออกช่วยชาวไร่ยาสูบให้ปลูกพืชทดแทน หลังได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ คาดได้ผลสรุปเร็วๆนี้ 

 

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีสรรพสามิต เปิดเผยถึงข้อเรียกร้องเกษตรกรผู้ปลูกสูบ ในการชดเชยเงินเพิ่มเติม และการปลูกพืชทดแทน เพื่อทดแทนรายได้ที่ลดลงหลังมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ว่า กรม ฯได้รับทราบปัญหา และได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรให้เพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยาสูบแห่งประเทศไทย ไปแล้ว โดยพบว่ามีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจริง 38,000 ไร่ ซึ่งเดิมเคยปลูกยาสูบได้ 100% แต่ปลูกได้เพียง 70% หลังการยาสูบฯมีการลดโควตารับซื้อ ส่งผลให้มีรายได้หายไป 30% 

 

ทั้งนี้ที่ในที่ประชุมยังได้กำหนดแนวทางการหาการปลูกพืชทดแทนยาสูบซึ่งมี 10 ชนิด เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว มันฝรั่ง หอมแดง เป็นต้น แต่เบื้องต้นคาดว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นพืชที่ทนแล้ง ปลูกได้ทุกภูมิภาค ทุกสภาพภูมิอากาศ และที่สำคัญยังเป็นพืชที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลด้วย ซึ่งจะทำให้เกษตรมีรายได้ที่แน่นอน มีความเสี่ยงน้อยกว่าพืชอื่น 

 

ส่วนการปลูกพืชทดแทนชนิดอื่นเพิ่มเติมนั้น ได้ให้กระทรวงพาณิชย์ไปช่วยศึกษาต่อว่ามีแนวโน้มราคา และตลาดรองรับอย่างไร ก่อนจะกลับมาหารืออีกครั้ง
 

นอกจากนี้ กรมฯ ยังเตรียมเสนอแนวทางการทำคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง มาช่วยเกษตรกรในการปลูกพืชทดแทน โดยจะนำผู้ผลิตขนมมันฝรั่งทอดชื่อดังอย่าง "เลย์" มาร่วมทำสัญญารับซื้อเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งโดยตรง เนื่องจากขณะนี้โรงงานเลย์ ก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอยู่ มีความต้องการซื้อมันฝรั่งเพิ่มจึงจะมีการประสานเพื่อทำความตกลงร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ชาวไร่ยาสูบมีตลาดรับซื้อและรายได้ที่แน่นอน 

 

เบื้องต้นทราบว่าผู้ผลิตเลย์ยังมีความต้องการพื้นที่เพาะปลูกอีกประมาณ 3,000 ไร่ หรือคิดเป็น 10% ของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการรับซื้อยาสูบ 

 

“แนวทางการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบ จะต้องได้ข้อสรุปรวดเร็วภายในปีนี้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้วางแผนเพาะปลูกได้ในช่วงต้นปีหน้า เพราะตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.พ.2564 ก็จะเริ่มฤดูกาลปลูกพืชทดแทนหรือยาสูบกันแล้ว แต่จะต้องมีการเสนอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาด้วย ขณะเดียวกันการยาสูบฯ จะต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกร ถึงวิธีการปลูก กรมส่งเสริมการเกษตรจะช่วยลงพื้นที่ไปให้ความรู้ในเรื่องด้วย

 

ส่วนข้อร้องเรียนของชาวไร่ยาสูบที่ต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยในปีนี้เพิ่มเติม จากการได้รับเงินเยียวยาเกษตรกรก่อนหน้านี้ 15,000 บาทนั้น เป็นเรื่องระดับนโยบายที่จะต้องพิจารณา ซึ่งในส่วนของกรมสรรพสามิตได้มีการจัดทำข้อมูล ทั้งการช่วยเหลือระยะสั้นและระยะยาวเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 38,000 ไร่ การปลูกพืชทดแทน โดยจะพยายามให้ได้ข้อสรุปสิ้นปีนี้ 

 

สำหรับการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ขณะนี้สรรพสามิตกำลังศึกษาอยู่ โดยได้ให้การบ้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องทำให้ชัดเจน ซึ่งโครงการภาษีที่ควรจะเป็นต้องตอบโจทย์ 4 เรื่องนี้ ได้แก่ การดูแลเกษตร รายได้ของรัฐ สุขภาพของประชาชน และการปราบปรามบุหรี่เถื่อน ซึ่งวิธีที่ไม่ควรทำคือการชะลอขึ้นภาษีบุหรี่ออกไปทีละปี เนื่องจากมองว่าเป็นการซื้อเวลา และการปรับลดหรือเพิ่มภาษีบุหรี่ ต้องดูผลกระทบต่อรายได้ ซึ่งจะต้องทำให้เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์ใน 4 เรื่องดังกล่าว ขณะที่ปัญหาที่การยาสูบฯ รายได้ลดลงนั้น ในทางกลับกันได้ทำให้กรมสามารถเก็บภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้น