เรามองค่าเงินบาท ปี 2021 อย่างไร 

06 ม.ค. 2564 | 09:15 น.

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดย : ธนธิป ตั้งเจตนาพร  สายงานธุกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

จบลงแล้วปี 2020 ปีที่ ตลาดการเงินโลก ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนรุนแรง ทั้งจากความหวาดกลัวต่อการขาดสภาพคล่องของธุรกิจและการใช้นโยบายการเงินการคลังนอกตำราแบบไม่เคยมีมาก่อน ค่าเงินบาทเองก็ผันผวนรุนแรงไม่ต่างกัน

 

การระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก เงินบาทอ่อนค่าลงมากจากที่นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่น และซํ้าเติมด้วยการสูญเสียรายได้จาก นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 14% ของจีดีพี แต่เมื่อการระบาดในจีนและเอเชียเริ่มควบคุมได้ เศรษฐกิจจีนก็เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับการค้นพบวัคซีนและชัยชนะของโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า เราจึงเห็นจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าตํ่ากว่า 30 บาทต่อดอลลาร์อยู่หลายครั้ง

 

ในปี 2021 เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อและแตะระดับคาดการณ์ที่ 29.00-29.25 ต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2021 โดยมีปัจจัยหลักๆ อยู่ 4 ประการ

 

ประการแรก เงินดอลลาร์จะยังคงอ่อนค่าต่อ จากภาวะเงินดอลลาร์ล้นตลาดที่เกิดจากนโยบายการเงินการคลังของสหรัฐฯในปีที่แล้ว เฟดอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาล ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าตลอดทั้งปี โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ลดลงแตะระดับตํ่าสุดในรอบ 2 ปีครึ่งที่ 89.7 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และปีนี้เฟดยืนยันชัดเจนที่จะอัดฉีดเงินเข้าระบบต่อเนื่อง 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือนและคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับตํ่าไปยาวนาน อีกทั้งนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ยังมีแนวโน้มใช้จ่ายเงินสูงขึ้น โดยเฉพาะเพื่อเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ภาวะเงินดอลลาร์ล้นตลาดนี้จะกระทบตลาดการเงินทั่วโลก ทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ของโลก

เรามองค่าเงินบาท ปี 2021 อย่างไร 

ประการที่สอง เศรษฐกิจจีนฟื้นตัว ทำให้เงินหยวนและเงินในเอเชียแข็งค่า จีนควบคุมการระบาดของไวรัสได้รวดเร็ว พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ แถมได้อานิสงส์จากการส่งออกสินค้าจำเป็นในช่วงโควิด-19 ทำให้จีดีพีจีนที่หดตัวรุนแรงในไตรมาส 1 ปี 2020 กลับมาขยายตัวได้รวดเร็ว สวนทางกับเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ที่เสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยซํ้าซ้อน ทำให้นักลงทุนกลับมาเชื่อมั่นต่อเงินหยวน และทำให้เงินในเอเชียแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้นโยบายเปิดเสรีการเงินของจีน ทั้งเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติและปล่อยให้ค่าเงินและดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น ยังทำให้การลงทุนในจีนน่าสนใจมากขึ้นด้วย

 

ประการที่สาม การลงทุนในไทยน่าสนใจ เมื่อเงินทุนมีแนวโน้มที่จะไหลเข้ามายังเอเชีย ตลาดการเงินไทยมีคุณสมบัติที่จะดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติอยู่หลายประการ ทั้งผลตอบแทนที่สูง โดยมองจากอัตราดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ยังสูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย เงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูงมาอย่างต่อเนื่อง หนี้สาธารณะที่ตํ่ากว่าประเทศข้างเคียง และแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวหลังมีการแจกจ่ายวัคซีน 

 

และประการสุดท้าย คือ ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไทยยังเกิน ดุลบัญชีเดินสะพัด แม้ในยามวิกฤต ตลอดทั้งปี 2020 ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุลโดยตลอด แม้ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เว้นล่าสุดเดือนพฤศจิกายน ในปี 2021 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุล โดยเฉพาะจากภาคการค้า โดยมองว่า เศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีแนวโน้มอ่อนแอ จะส่งผลให้การนำเข้ายังคงตํ่ากว่าการส่งออก ขณะที่ประเมินว่า การแจกจ่ายวัคซีนจะช่วยให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศเริ่มดีขึ้น และสร้างรายได้แก่ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี เรามองว่า ในปี 2021 ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยจะยังเกินดุลต่อเนื่องในปี 2021 ที่ 2.5-3.0% ต่อจีดีพี

ดุลบัญชีเดินสะพัด

ปัจจุบันธปท. พยายามสร้างระบบนิเวศของอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) ให้เกิดสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้าและไหลออก ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างในระยะยาว แต่เรามองว่า มาตรการนี้อาจไม่สามารถสวนกระแสเงินบาทที่แข็งค่าตามปัจจัยต่างประเทศได้ในเวลานี้ อีกทั้งนักลงทุนไทยยังยึดติดกับการลงทุนในประเทศ (Home bias) ทำให้ยังมีเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศตํ่าด้วย ทำให้เราต้องติดตามความเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิดต่อไป และในโอกาสหน้า เราจะมาพูดคุยกันต่อกับเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจของตลาดเงิน โปรดติดตาม

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564