"เราชนะ" สบน.เดินหน้ากู้จ่าย "เยียวยาโควิดรอบ2" ล็อตแรก 5 ก.พ.นี้

25 ม.ค. 2564 | 08:00 น.

ผอ.สบน.ชี้กู้เต็ม 1 ล้านล้าน ไม่ทำหนี้สาธารณะปี 64 ทะลุเพดาน 60% ต่อ GDP พร้อมเดินหน้าออกพันธบัตรและเบิกเงินกู้จาก ADB เพื่อจ่ายเยียวยา “เราชนะ” ล็อตแรก 5 ก.พ.นี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ตัวเลข หนี้สาธารณะ ของไทย อยู่ที่ 50.46% ต่อ GDP และคาดว่าในปี 2564 เมื่อพิจารณาจากแผนการเบิกจ่ายและบริหารหนี้ และการกู้เงินตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งตัวเลขจีดีพีที่คาดว่า จะลดลงประมาณ 1% หลังเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่แล้ว ก็ยังทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะในปี 2564 อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ที่ประมาณ 56% ต่อGDP จากกรอบเพดาน 60% ต่อ GDP โดยยังไม่จำเป็นต้องขยายตัวเลขเพดานหนี้สาธารณะ  ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายกู้เงินพิเศษเพิ่มเติม

แพตริเซีย มงคลวนิช

 

“ตอนนี้เหตุการณ์ไม่ปกติ ทำให้ต้องกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอัตราการเร่งของหนี้สาธารณะไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ไทยยังดีกว่ามาก การบริหารหนี้สาธารณะของไทย ถือว่า conservative แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราจำเป็นต้องมี พ.ร.ก.กู้เงินช่วงโควิด ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีเม็ดเงินเลย เพราะตอนนี้หนี้สาธารณะเป็นหนี้ตัวเดียวที่ใช้บริหารเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เพราะงบประมาณประจำเอาไม่อยู่”นางแพตริเซียกล่าว

 

สำหรับแผนก่อหนี้สาธารณะปี 2564 วงเงินกว่า 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล 36% หรือประมาณ 850,000 ล้านบาท ออกตั๋วเงินคลัง 22% หรือประมาณ 520,000 ล้านบาท การกู้เงินผ่านสถาบันการเงินในรูปแบบ PN หรือ Term Loan 35% หรือประมาณ 822,000 ล้านบาท การออก พันธบัตรออมทรัพย์ 5% หรือประมาณ 110,000 ล้านบาท และกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) 2% หรือประมาณ  46,500 ล้านบาท

 

 

ขณะที่การใช้เงินในโครงการ "เราชนะ" ทางสบน.จะเริ่มทยอยกู้เงินตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรออมทรัพย์ รวมทั้งทยอยเบิกเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อเริ่มใช้ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นกลุ่มแรก วันที่ 5 กุมภาพันธ์ นี้

ส่วนความคืบหน้าการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท  ทั้ง  3 แผน นั้น ล่าสุด ครม. อนุมัติไปแล้วทั้งสิ้น 711,607 ล้านบาท โดย สบน.กู้แล้ว 39% หรือประมาณ 393,761 ล้านบาท

 

แผนที่ 1 แผนงานด้านสาธารณสุข  วงเงิน 45,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติแล้ว 19,698 ล้านบาท  สบน.ตั้งเบิกไปแล้ว 1,561 ล้านบาท

แผนที่ 2 แผนงานเยียวยา วงเงิน 565,000 ล้านบาท (ซึ่งโอนมาจากแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 10,000 ล้านบาทบาท)   ครม.อนุมัติแล้ว 558,753 ล้านบาท สบน. ตั้งเบิกไปแล้ว 322,819  ล้านบาท โดยอีกกว่า  200,000  ล้านบาทที่เหลือจะนำไปใช้ใน โครงการ "เราชนะ"

แผนที่ 3 แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 390,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติแล้ว 133,156 ล้านบาท สบน.ตั้งเบิกแล้ว 48,998 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เราชนะ" พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ 6 หมื่นล้าน ดีเดย์ 1 ก.พ.นี้

สบน.ยันเงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบ 7.8 แสนล้านเป็นไปตามกรอบกฎหมาย

อาคม ไฟเขียว "สบน." กู้เงินต่างประเทศ

สบน.ถกรัฐวิสาหกิจเร่งอัดฉีดงบลงทุน

พิษโควิด สบน.จ่อปรับเป้าหนี้สาธารณะใหม่