สรรพากร ดัน “ดิจิทัลเซอร์วิส” รีดภาษีนิติบุคคลต่างชาติ

21 ก.พ. 2564 | 09:15 น.

สรรพากร เผย ไทยหนุนผลักดันกฎหมาย “ดิจิทัลเซอร์วิส” เก็บภาษีบริษัทต่างชาติที่ให้บริการอีเซอร์วิสในไทย หวังสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการไทย


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงการจัดเก็บภาษี VAT และภาษีเงินได้นิติบุคคลบริษัทต่างชาติ ที่มีรายได้จาการให้บริการอีเซอร์วิสในไทย โดยไม่ได้เข้ามาตั้งสำนักงานหรือออฟฟิตในไทย ว่า ยังติดเงื่อนไขของการเป็นประเทศสมาชิกสนธิสัญญาภาษีซ้อนที่ระบุให้นิติบุคคลเสียภาษีให้เพียงประเทศเดียว ที่นิติบุคคลนั้นเข้าไปตั้งออฟฟิตหรือสำนักงาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เกิดการทำธุรกิจแบบข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องเข้าไปตั้งสำนักงานในประเทศนั้นๆ ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้หลายประเทศอยู่ระหว่างการหาแนวทางออกร่วมกัน โดยมี องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development ) หรือ OECD เป็นคนกลาง

“แม้ที่ผ่านมามีบางประเทศออกกฎหมายดิจิทัลเซอร์วิส เพื่อจัดเก็บภาษีจากยอดขายของนิติบุคคลต่างชาติ ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้ เพราะมีประเด็นที่บางประเทศใช้มาตรการทางภาษีอื่นมากดดันเพื่อไม่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว
 
 

ขณะที่ ความคืบหน้า การบังคับใช้ กฎหมายอีเซอร์วิส ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายน 2564  นั้น อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกกฎหมายลูก ระดับกฎกระทรวงและประกาศอธิบดี เพื่อวางแนวทางปฏิบัติ อาทิ การออกหมายเรียกทางอิเล็กทรอนิกส์, รายละเอียดการจดทะเบียนและการชำระภาษี เป็นต้น ซึ่งล่าสุดกรมฯ ได้เชิญผู้ประกอบการ อาทิ Facebook,  Apple, Line มาหารือเพื่อวางแนวทางปฏิบัติร่วมกัน และหลังจากนั้นจะมีการพูดคุยกับสถานฑูต และหอการค้าต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันอีกครั้ง

ส่วนกรณีความกังวลว่าผู้ประกอบการจะผลักภาระไปให้ผู้บริโภคนั้น อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ขึ้นอยู่กับธุรกิจและการแข่งขันในตลาด ซึ่งกรมฯไม่สามารถเข้าไปบังคับได้ พร้อมยืนยันกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบจากการต่างประเทศ
 
 

สำหรับกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในผู้ประกอบการที่ให้บริการอีเซอร์วิสจากต่างประเทศ ได้แก่ การให้บริการดาวน์โหลด หนัง ภาพยนตร์  เพลง เกม สติกเกอร์ นายหน้า สื่อโฆษณา แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย เช่น  Apple Google Facebook Netflix Line Youtube Tiktok และมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ยื่นแบบและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กับกรมสรรพากรเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในประเทศ โดยกรมคาดว่าจากกฎหมายฉบับนี้จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้เพิ่มขึ้นปีละ 5,000 ล้านบาท