หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณดัชนีของตลท. ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม – 2 เมษายน 2564 เนื่องจากที่ผ่านมาดัชนีของตลท.สามารถสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวของราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ได้ แต่อาจยังมีข้อจำกัดในการสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ของหลักทรัพย์ (Investable) ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ด้วยหลักการคำนวณยังไม่ได้มีปัจจัยที่สะท้อนถึงสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) หรือ หุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายในตลาด และยังไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการจัดทำดัชนีในต่างประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อให้ดัชนีที่ตลท.จัดทำขึ้นนั้นสามารถสะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ (Investable) และสอดคล้องกับแนวทางการคำนวณดัชนีของสากล รวมถึงความต้องการของผู้ใช้ดัชนี ตลท.ได้มีการศึกษาหลักเกณฑ์การคำนวณน้ำหนักของหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีของผู้จัดทำดัชนีในต่างประเทศ พบว่าส่วนมากมีการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวณดัชนี (Free Float Adjusted Market Capitalization) และมักจะปรับสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีในรอบการคัดเลือกหลักทรัพย์ในดัชนี และอาจมีการปรับสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) เพิ่มเติมหากสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) มีการเปลี่ยนแปลงเกินระดับที่มีนัยสำคัญ
สำหรับแนวทางการปรับปรุง ได้แก่
1.แนวทางการปรับปรุงการคำนวณดัชนี คือ ปรับปรุงวิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในองค์ประกอบของดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณดัชนี (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวณดัชนี (Free Float Adjusted Market Capitalization)
2. ปรับปรุงข้อมูลสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี ได้แก่
-ปรับสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีพร้อมรอบการเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ในดัชนี SET50, SET100, SETCLMV, SETHD, SETTHSI และ SETWB ในเดือนมิถุนายนและธันวาคมของทุกปี
-ปรับสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี หากสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) เปลี่ยนแปลงจากค่าเดิมอย่างน้อย 5% ขึ้นไปในเดือนมีนาคมและกันยายนของทุกปี
-สัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีจะปรับเป็นจำนวนเต็ม 1%
การปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของทุกหลักทรัพย์เป็นองค์ประกอบของดัชนี อันส่งผลให้ผู้ลงทุนที่มีผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงการเคลื่อนไหวของดัชนี บริหารความเสี่ยง หรือมีฐานะในอนุพันธ์ที่เชื่อมโยงกับดัชนีอาจต้องมีการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี เพื่อ rebalance หรือปรับสถานะตามไปด้วยในจำนวนมาก (Index Turnover สูง) และอาจส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลท.จึงจะใช้แนวทางเดียวกับต่างประเทศในการดำเนินการ โดยการทยอยปรับน้ำหนักเป็น 2 ครั้งโดยมีผลทีละครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ในการดำเนินการปรับการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float Adjusted Market Capitalization) นั้น จะดำเนินการดังนี้
1.Key Tradable Index ปรับวิธีการคำนวณดัชนี SET50, SET100 และ SETHD ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
2.ดัชนีอื่นๆ ซึ่งเป็น Composite Index, Industry/Sector Index ได้แก่ ดัชนี SET, SET Industry Group, SET Sector, mai, mai Industry Group, mai Sector และ Thematic Index ได้แก่ sSET, SETCLMV, SETTHSI และ SETWB จะทยอยดำเนินการในช่วงปี 2565-2566
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส จำกัด ระบุว่า ตลท.ทบทวนเกณฑ์การคำนวณดัชนี แม้เกณฑ์ต่างๆ ยังเหมือนเดิม แต่การจัดน้ำหนัก และลำดับหุ้นเข้าออกจากดัชนี เปลี่ยนมาใช้วิธี Free Float Adjusted Market Cap. แทนวิธี Market Cap. เพื่อให้สะท้อนถึงความจริง และสอดคล้องกับวิธีการคำนวณแบบสากลนั้น มองว่าหุ้นที่ได้ประโยชน์ จากเม็ดเงินมีโอกาสไหลเข้าเพิ่ม เนื่องจากถูกเพิ่มน้ำหนัก คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) เป็นหุ้นที่มีโอกาสได้เม็ดเงินจาก Passive Fund เพิ่มขึ้นมากสุดของหุ้นทั้งหมดใน SET100 เนื่องจากการจัดน้ำหนักใหม่ด้วยวิธี Free Float Adjusted Market Cap. แล้วมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในรอบแรกจาก 1.74% เป็น 2.82% แสดงว่าเม็ดเงินจาก Passive Fund จะต้องไหลเข้า BBL เพิ่มขึ้น 56% ในรอบแรกกลางปีนี้ และจะไหลเข้าเพิ่มขึ้น 113% ในปีนี้ ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) คาดจะมีเม็ดเงินไหลเข้า 65% และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) คาดจะมีเม็ดเงินไหลเข้า 61%
ขณะเดียวกัน ยังมีหุ้นที่ได้และเสียประโยชน์จากการคัดเลือกหุ้นเข้า/ออก ดัชนี SET50-100 โดยเริ่มผลบังคับใช้วันแรก คือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 คาดการณ์โดยใช้เกณฑ์ใหม่ ได้ผลลัพธ์หุ้นที่ถูกคัดเข้าดัชนี SET50 จำนวน 5 บริษัท คือ BANPU, KKP, KCE, STA และ IRPC ส่วนหุ้นที่คาดว่ามีโอกาสถูกคัดออกจากดัชนี SET50 มี 5 บริษัท คือ COM7, VGI, DTAC, TOA และ GLOBAL
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :