เปิด“บิ๊กแพ็กเกจ” อุ้มธุรกิจฝ่าโควิด พักหนี้-ปล่อยกู้

25 มี.ค. 2564 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2564 | 07:11 น.

ครม.ปลดล็อกพ.ร.ก.ซอฟต์โลนธปท. ไฟเขียวดึง 3.5 แสนล้านบาทจัดทำบิ๊กแพ็กเกจ เตรียม 2.5 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ธุรกิจ ดอกเบี้ยตํ่า 2 ปี ไม่เกิน 2% เฉลี่ย 5 ปีไม่เกิน 5% ส่วน 1 แสนล้าน ตั้งโกดังพักหนี้ใน “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” ช่วยธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิด

 

ความคืบหน้าโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า ภายใต้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือพ.ร.ก.ซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ล่าสุด ณ 15 มีนาคม 2564 มียอดอนุมัติสินเชื่อแล้ว 132,835.88 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับซอฟต์โลน 76,713 ราย วงเงินเฉลี่ย 1.73 ล้านบาทต่อราย จึงทำให้มีวงเงินเหลือกว่า 367,164.12 ล้านบาท ขณะที่พ.ร.ก.ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 เมษายน 2564 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 23 มีนาคม 2564 จึงมีมติที่จะนำวงเงินที่เหลือ 3.5 แสนล้านบาทมาจัดทำมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อผู้ผู้ประกอบธุรกิจหรือ สินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินกิจการรวมถึงเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และอีก 1 แสนล้านบาทจัดทำมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์นั้นคืนในภายหลังหรือ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังต้องการเวลาฟื้นตัว โดยทั้ง 2 โครงการสามารถเบิกเงินกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใน 2 ปี และสินเชื่อมีอายุ 5 ปี และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงรุนแรง กระทบเป็นวงกว้างและยืดเยื้อนานกว่าที่คาดไว้ ทำให้ภาคธุรกิจมีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจในการเข้าถึงสภาพคล่องและแหล่งทุน โดยผู้ประกอบธุรกิจในบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงและคาดว่า อาจใช้เวลานานในการฟื้นตัว อย่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งผลสำรวจของผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) พบว่า 42% ของผู้ตอบแบบ สอบถามคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูมิภาค เอเชียและแปซิฟิกจะกลับมาสู่ระดับเดียวกับปี 2562 เร็วที่สุดในปี 2567

“ภาครัฐจำเป็นเร่งด่วนต้องออกมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มเติมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ เพื่อให้ภาครัฐสามารถปรับปรุงเงื่อนไขการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจใด้อย่างทันการณ์ เหมาะสม และเพียงพอกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ภาคธุรกิจลุกลาม จนกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จนยากต่อการแก้ไข” นายอาคมกล่าว

สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก และ 5 ปีเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี

ทั้งนี้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูจะมีกลไกค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) ไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมค้ำประกันไม่เกิน 1.75% ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมไม่เกิน 3.5% และภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40%  ขณะที่กระทรวงมหาดไทยจะลดค่าธรรมเนียมจดจำนองเหลือ 0.01%

ส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท  จะเป็นการสนับสนุนเงินให้สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่กับสถาบันการเงินก่อน 28 กุมภาพันธ์ 2564 และไม่เป็นเอ็นพีแอล ณ 31 ธันวาคม 2562 ภายใต้ความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย โดยลูกหนี้มีสิทธิ์ซื้อหลักประกันคืนภายใน 5 ปี โดยราคาซื้อคืนต้องไม่เกินกว่าราคาตีโอนทรัพย์ บวกด้วย carrying cost 1%  โดยสถาบันการเงินอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทรัพย์ตามที่จ่ายไปจริงและสมควรแก่เหตุ และลูกหนี้มีสิทธิ์ในการเช่าทรัพย์หลักประกันได้ โดยนำค่าเช่าไปหักออกจากราคาซื้อทรัพย์ และไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์เพิ่มเติม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้จะตอบโจทย์และลดภาระลูกหนี้ได้ และมั่นใจว่า จะดำเนินการได้จริงภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยทำควบคู่กับมาตรการ อื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564