อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ และหลายเรื่องเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์และควบคุมได้ อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประทุขึ้นตั้งแต่ต้นปีก่อน และเป็นความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตของคนไทยตลอดปีที่ผ่านมา ก่อนจะรุนแรงอีกครั้งในช่วงต้นเดือนเมษายนปีนี้และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ที่ยอดผู้ติดเชื่อรายใหม่ยังอยู่ในระดับสูงดังนั้น การทำประกันภัย จึงเข้ามาบทบาทมากขึ้น ในการช่วยหาทางป้องกันความเสี่ยงใหม่ๆ ลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างหลักประกันในชีวิต
ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด(มหาชน) หรือ TIC เปิดเผยว่า วงการประกันภัยพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อก้าวให้ทันไลฟ์สไตล์คนไทย และยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับให้ประกันภัยเป็นเรื่องสะดวก คุ้มค่า ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล และสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงของคนไทย TIC ได้เร่ง Transform องค์กรครั้งใหญ่เพื่อเป็น Thailand’s First Innovative Insurer เพราะมีแนวโน้มสำคัญที่จะเห็นในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ประกันภัยจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และสร้างคุณภาพชีวิตแก่คนไทยทุกคนได้อย่างไร
1.ประกันภัยจะเป็นดิจิทัลยิ่งขึ้นกว่าเดิม
การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนได้รู้จักกับการซื้อประกันผ่านช่องทางออนไลน์เป็นครั้งแรก ซึ่งซื้อได้ผ่านคอมพิวเตอร์หรือมือถือตลอด 24 ชั่วโมง จ่ายเงินผ่านออนไลน์แบบไร้สัมผัส และรับกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเริ่มต้นความคุ้มครองทันที ทำให้การซื้อประกันเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว
เทคโนโลยีดิจิทัลมีศักยภาพอีกมากที่จะช่วยยกระดับบริการของประกันภัยในช่วงหลังการขายด้วย เครือข่าย 5G และอุปกรณ์ไอโอที (IoT) จะเชื่อมต่อทุกสิ่งเข้าด้วยกัน ประมวลผลและรายงานข้อมูลได้ทันที (Real-time) โดยตลาดไอโอทีในไทยจะเติบโตอีกมาก จากมูลค่า 3,600 ล้านบาทในปี 2561 เป็นเกือบ 66,000 ล้านบาทภายในปี 2573 หรือเติบโตเฉลี่ยทบต้นปีละ 27%
2.คนไทยและภาคธุรกิจยังต้องการทำประกันอีกมาก
เห็นได้ชัดจากประกันภัยโควิด-19 ที่ได้รับความนิยมสูงกว่า 9 ล้านกรมธรรม์ ภายในเวลาไม่นาน เนื่องจากคนไทยสนใจการบริหารความเสี่ยงในชีวิตมากขึ้น และเมื่อยิ่งคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมออนไลน์ ได้สัมผัสกับตัวเองว่า การทำประกันเป็นเรื่องสะดวก รวดเร็ว ราคาไม่แพง และเล็งเห็นความเสี่ยงอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ป้องกัน จะช่วยให้ตัดสินใจทำประกันภัยอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น และยังมีความต้องการใหม่ๆ จากภาคธุรกิจ เช่น ประกันความปลอดภัยไซเบอร์ ประกันพืชผลทางการเกษตรหรือการประมง โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะสร้างอุปทานใหม่ๆ มหาศาลรวมถึงเมกะเทรนด์ต่างๆ ของโลก ทั้งสังคมผู้สูงอายุ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ทุกคนหันมาสนใจทำประกันเพื่อลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
3.คนไทยทุกคนเข้าถึงประกันภัยที่คุ้มค่าและเฉพาะตัว
นวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไอโอที การเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันแบบเรียลไทม์ และเทคโนโลยี AI ช่วยให้ธุรกิจประกันภัยสามารถเข้าใจผู้บริโภคแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น มอบความคุ้มครองอย่างเหมาะสมกับข้อมูลความเสี่ยงของแต่ละบุคคล คำนวณเบี้ยอย่างเป็นธรรมจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตจริงไม่ใช่จากแบบทดสอบความเสี่ยง TIC ต้องการมอบผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจและมี value สูงที่สุดให้ลูกค้า พร้อมทั้งสร้างความต้องการใหม่จากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะใหม่ (Supply creates demand) อีกด้วย
4.ประกันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เมื่อประกันภัยเข้ามาอยู่ในทุกๆ มิติของชีวิตคนไทย ธุรกิจประกันภัยจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์ม เป็นตัวกลางเชื่อมต่อทั้ง Front-end และ Back-end กับพันธมิตรต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยี Open API สามารถนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยไปพ่วงกับสินค้าและบริการที่หลากหลาย โดยเฉพาะอยางยิ่งบนช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้น เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากแบงก์แอสชัวรันส์ (Bancassurance) หรือการขายประกันผ่านธนาคารแล้ว ประกันภัยมีโอกาสสร้างพันธมิตรใหม่กับธุรกิจอื่นอีกมาก
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,674 วันที่ 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564