วิกฤตมาร์จิ้นหุ้นไทย มูลค่าซื้อขายพุ่ง เสี่ยงคอร์เนอร์แตก

10 ม.ค. 2568 | 04:57 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2568 | 04:57 น.

เจาะลึกข้อมูลหุ้นมาร์จิ้นและจำนำในตลาดหลักทรัพย์ไทย พบ SCM นำโด่งวางประกัน 52% พร้อมเปิด 10 หุ้นเสี่ยงสูงที่มีฟรีโฟลตต่ำกว่า 20% เตือนนักลงทุนระวังผลกระทบจากการบังคับขาย

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ “ตลาดหุ้นไทย” ผจญปัญหาสารพัด โดยหนึ่งในเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากที่สุด หนีไม่พ้นการใช้ “บัญชีมาร์จิ้น” และ “การจำนำหุ้น” โดยไม่โปร่งใส จนทำให้เกิดความเสียหายทางตลาดทุนและลดความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยโดยรวม

จากการตรวจสอบข้อมูลหลักทรัพย์ที่นำหุ้นไปวางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้นล่าสุด ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่ามีทั้งหมด 911 หลักทรัพย์ โดยส่วนใหญ่ ประมาณ 85% มีอัตราการวางหุ้นเป็นหลักประกันต่ำกว่า 10%

ขณะที่หลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนมาร์จิ้นเกิน 10% มีจำนวน 242 หลักทรัพย์ หรือประมาณ 26.6% ของหลักทรัพย์ทั้งหมด ในจำนวนนี้มี 42 บริษัทที่มีอัตราการวางประกันสูงกว่า 15% โดยอัตราการวางประกันสูงสุดอยู่ที่ 52.04% ได้แก่ SCM และต่ำสุดใกล้ 0% ซึ่งค่าเฉลี่ยการนำหุ้นไปวางประกันอยู่ที่ประมาณ 2-3%

มากไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 พบว่า มีการซื้อขายหุ้นผ่านบัญชีมาร์จิ้นรวมทั้งสิ้น 1,126,743 ล้านบาท แบ่งเป็นเดือน ม.ค. จำนวน 80,146 ล้านบาท ก.พ. จำนวน 83,350 ล้านบาท มี.ค. จำนวน 80,409 ล้านบาท เม.ย. จำนวน 71,171 ล้านบาท พ.ค. จำนวน 86,479 ล้านบาท มิ.ย. จำนวน 86,442 ล้านบาท ก.ค. จำนวน 82,253 ล้านบาท ส.ค. จำนวน 110,470 ล้านบาท ก.ย. จำนวน 153,429 ล้านบาท ต.ค. จำนวน 140,924 ล้านบาท พ.ย. จำนวน 92,270 ล้านบาท

เปิด TOP 10 หุ้นมาร์จิ้นสูง

สำหรับ 10 อันดับแรกของหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนมาร์จิ้นสูงสุด มีดังนี้ อันดับ 1 SCM หุ้นที่วางเป็นประกันจำนวน 314,750,500 หุ้น คิดเป็น 52.04% ของหุ้นทั้งหมด สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย 24.55% อันดับ 2 GPI จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน 299,847,179 หุ้น คิดเป็น 49.98% ของหุ้นทั้งหมด สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย 42.12%

อันดับ 3 SAAM จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน 135,477,902 หุ้น คิดเป็น 45.16% ของหุ้นทั้งหมด สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย 25.64% อันดับ 5 TFG จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน 2,556,245,345 หุ้น คิดเป็น 43.99% ของหุ้นทั้งหมด สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย 17.35%

อันดับ 6 A5 หุ้นที่วางเป็นประกัน 521,424,066 หุ้น คิดเป็น 43.12% ของหุ้นทั้งหมด สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย 20.76% อันดับ 7 SA หุ้นที่วางเป็นประกัน 472,830,307 หุ้น คิดเป็น 39.44% ของหุ้นทั้งหมด อันดับ 7 JSP หุ้นที่วางเป็นประกัน: 151,571,083 หุ้น คิดเป็น 31.94% ของหุ้นทั้งหมด

อันดับ 8 KUN หุ้นที่วางเป็นประกัน: 230,458,100 หุ้น คิดเป็น 29.25% ของหุ้นทั้งหมด อันดับ 9 CGD หุ้นที่วางเป็นประกัน: 2,249,343,382 หุ้น คิดเป็น 27.21% ของหุ้นทั้งหมด อันดับ 10 UKEM หุ้นที่วางเป็นประกัน: 300,196,134 หุ้น คิดเป็น 25.83% ของหุ้นทั้งหมด

หลักทรัพย์ 10 อันดับที่มีบัญชีมาร์จิ้นสูง

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ มองว่า SCM, TFG, A5 มีอัตราการวางประกันสูง แต่ Free Float ต่ำมาก มีความเสี่ยงจากการบังคับขายหลักประกันสูง อาจเกิดความผันผวนรุนแรงในภาวะตลาดขาลง ขณะที่ SA, JSP, KUN มีอัตราการวางประกันสูงแต่ Free Float ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีโอกาสเกิดความผันผวนในช่วงตลาดผันผวน ส่วน CGD, UKEM, FVC มี Free Float ค่อนข้างดี ความเสี่ยงจากการบังคับขายหลักประกันน้อยกว่า เพราะสภาพคล่องในการซื้อขายดีกว่ากลุ่มอื่น
 

“หุ้นที่มี Free Float ต่ำอาจมีปัญหาสภาพคล่องในการซื้อขาย การบังคับขายหลักประกันอาจส่งผลกระทบ ต่อราคาอย่างมีนัยสำคัญ ควรพิจารณาปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยประกอบการตัดสินใจลงทุน นักลงทุนไม่ควรลงทุนกระจุกตัวในหุ้นที่มีทั้งอัตราการวางประกันสูงและ Free Float ต่ำ ควรพิจารณากระจายการลงทุนไปในหุ้นที่มีพื้นฐานดีและสภาพคล่องสูง โดยอาจพิจารณาลงทุนในหุ้นที่มี Free Float สูงเพื่อลดความเสี่ยง” แหล่งข่าว กล่าว

Top 10 หุ้นมาร์จิ้นสูง Free Float ต่ำ

สำหรับ 10 หลักทรัพย์ที่มีอัตราการวางประกันสูงและการกระจายหุ้นรายย่อยต่ำกว่า 30% ประกอบด้วย อันดับ 1 TFG สัดส่วนมาร์จิ้น 43.99% Free Float 17.35% จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน 2,556,245,345 หุ้น อันดับ 2 SA สัดส่วนมาร์จิ้น 39.44% Free Float 17.50% จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน 472,830,307 หุ้น

อันดับ 3 SGC สัดส่วนมาร์จิ้น 4.61% Free Float 20.60% จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน 287,572,183 หุ้น อันดับ 4 AMATAV สัดส่วนมาร์จิ้น 4.49% Free Float 20.45% จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน 47,870,176 หุ้น อันดับ 5 PCE สัดส่วนมาร์จิ้น 13.33% Free Float 26.69% จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน 366,695,496 หุ้น

อันดับ 6 ROCTEC สัดส่วนมาร์จิ้น 5.58% Free Float 27.73% จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน453,044,378 หุ้น อันดับ 7 DCON สัดส่วนมาร์จิ้น 5.43% Free Float 27.51% จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน 292,236,667 หุ้น อันดับ 8 BKD สัดส่วนมาร์จิ้น 7.45% Free Float 26.95% จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน: 80,206,901 หุ้น

อันดับ 9 PRINC สัดส่วนมาร์จิ้น 0.86% Free Float 16.16% จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน: 32,632,003 หุ้น อันดับ 10 CKP สัดส่วนมาร์จิ้น 1.78% Free Float 25.52%จำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน: 144,583,582 หุ้น

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การนำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอมาร์จิ้นโลนมีการทำกันมานานแล้ว เพียงแต่ว่าการขอมาร์จิ้นโลนก็มีอีกหลากหลายวิธีการ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เลยก็ คือ การเอาหุ้นไปวางเพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะหุ้นก็เปรียบเสมือนเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง

“สมมติว่ามูลค่าของราคาหุ้นที่เราถืออยู่อยู่ที่ประมาณหนึ่งล้านบาท เวลาไปขอมาร์จิ้นโลนก็อาจจะได้ราวห้าแสนบาท โดยเมื่อในอดีตผู้ที่ขอมาร์จิ้นโลนก็จะเอาไปซื้อหุ้นเพิ่ม หรือเอาไปลงทุนในหุ้นเพิ่มเติม เพียงแต่ว่ามีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นหุ้นที่ถืออยู่” นายประกิต กล่าว

แต่ว่าการวางบัญชีมาร์จิ้นในยุคปัจจุบันมีการพลิกแพลงไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นข่าวเรื่องหุ้นถูกบังคับขายผ่านตาให้เห็นบ่อยมากขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผลมาจากการเอา “หุ้นไปจํานําแลกเป็นเงินสด” ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นที่นิยมทำกันมากในหมู่ของผู้บิหาร หรือเจ้าของหุ้นบริษัทจดทะเบียน เพราะด้วยกฏเกณฑ์ของการกำกับดูแลของทั้งตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ทำให้การที่จะขายหุ้นแปลงเป็นเงินสดจำเป็นที่จะต้องรายงานทุกครั้ง

แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากขึ้นไปอีก แต่ในทางกลับกันการที่เอาหุ้นไปจำนำแล้วแลกเป็นเงินสดมันไม่ต้องรายงาน พอสบช่องทางหาเงินใหม่ก็ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ยกตัวอย่าง การช่วยกันไล่หุ้นขึ้นมา แล้วก็พอราคามาอยุ่ในระดับที่สุงพอสมควรก็ยังไม่ขาย เพราะว่าถ้าขายแล้วเดี๋ยวก๊วนรู้ ดังนั้นก็เอาไปจํานํากัน

หากราคามันทรงตัวต่อไปได้ก็รอดไป แต่ถ้ามันเกิดเหตุการณ์พลิกผัน เช่น ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ หรืออื่นๆ จนกระทบให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจนกระทั่งใกล้ถึงลิมิต (กินทุน) ที่ผู้รับจำนำหุ้นกำหนดไว้ จะเกิดการบังคับขายหุ้นออกมา เป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นขนาดกลางและเล็กถูกถล่มกันมากในช่วงที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า “คอร์เนอร์แตก”

 “ที่ผ่านมาที่หุ้นขึ้น เพราะว่าแต่ละคนก็ซื้อหุ้นแล้วก็นำหุ้นไปวางเพื่อขอมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น ช่วยกันดันราคา แล้วอยู่ดี ๆ ก็ต่างคนก็ต่างเอาหุ้นตัวเองไปวางตึ๊งเอาเงินสด พอผลประกอบการไม่เป็นใจหุ้นเริ่มปรับลดลง บางส่วนก็ขายจริง บางส่วนก็ตึ๊งอยู่ เมื่อมูลค่าลดลงบริษัทที่รับตึ๊งก็ทําการฟอสเซล โดยต้องยอมรับว่าหลังๆ มานี้เจอเคสแบบนี้บ่อยมากขึ้น ซึ่งมันเป็นการทําร้ายตลาดทางอ้อม” นายประกิต ยอมรับ

นายประกิต กล่าวด้วยว่า เดิมทีการเอาหุ้นไปขอมาร์จิ้นนั้น สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ มียอดระบุว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เอาหุ้นมาปล่อยมาร์จิ้นแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ แต่การเอาหุ้นไปจำนำมันไม่ต้องมีการรายงาน ดังนั้นแล้วจึงไม่มีข้อมูลที่ระบุให้นักลงทุนได้รับทราบ

ทั้งนี้ มองว่าการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังดำเนินเรื่องของการรวบรวมข้อมูลการจำนำหุ้นผ่านระบบศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD มาเปิดเผยให้ผู้ลงทุนได้รับทราบ ซึ่งรูปแบบจะคล้ายกับการรายงานหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น ที่ปัจจุบันมีการเปิดเผยแบบรายเดือน

แต่คำถามคือการรายงานแบบรายเดือนนี้รวดเร็วแล้วจริงหรือ? ไม่เท่ากับว่ากว่าที่นักลงทุนจะรู้ข้อมูลวันเวลาก็ผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้วหรือ เป็นเรื่องที่อยากให้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ นำไปพิจารณาอีกครั้ง อันที่จริงการรายงานก็ไม่ควรเกิน 1-2 วัน

“ที่ผ่านมาผู้บริหารที่เอาหุ้นไปตึ้ง บางบจ. ยังไม่เกิดเหตุรายย่อยก็รอดไป แต่เคสที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านๆ มา รายย่อยบาดเจ็บกันไปมาก อันที่จริงแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอนนี้กำลังมีปัญหาก็คือ ไม่มีเสน่ห์ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อไม่เสน่ห์มาจูงใจก็ต้องยิ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างโปร่งใสมากที่สุด เพราะว่าคนที่อยู่จะตายเอา ไม่มีแรงซื้อใหม่ ๆ กลายเป็นว่าคนอยู่ก็กําลังถูกต้มไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการรายงานทุกอย่าง” นายประกิต กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,061 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2568