นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานเพื่อทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี เนื่องจากขณะนี้ครบรอบกำหนด 3 ปีที่จะต้องทบทวนกรอบวินับการเงินการคลัง หลังจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ มีผลบังคับใช้ในปี 2561
อย่างไรก็ตามการปรับกรอบวินัยการเงินการคลังนั้นจะอ้างอิงตัวเลขการขยายตัวของจีดีพี จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหลัก พร้อมกล่าวอีกว่า ไทยเคยมีหนี้สาธารณะพุ่งสูงสุดอยู่ที่ 59.98% ต่อจีดีพี ซึ่งภาครัฐก็สามารถบริหารจัดการได้ดี ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 นั้น เมื่อรวมตัวเลขเงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 58% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้
“จะมีการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหรือไม่ จะต้องดูตัวเลขจีดีพีของสภาพัฒน์เป็นหลัก ซึ่งหากปรับเพดานขึ้นและสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัว ก็สามารถทำได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร และที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้ดีมาโดยตลอด ขณะที่กรอบเพดานที่ 60% ต่อจีดีพีนั้น ตั้งไว้ตอนสถานการณ์ปกติ ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวเลขหนี้สาธารณะของหลายๆประเทศก็พุ่งเกินกรอบที่ตั้งไว้” ผอ.สบน.กล่าว
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังครั้งนี้ น่าจะยังไม่มีการปรับกรอบวินัยการเงินการคลังให้เกิน 60% ของจีดีพี เนื่องจากภายใน 5 ปี (2564-2569) ถ้าไม่มีการกู้เงินเพิ่มเติมจากที่ออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะจะไม่เกิน 60% ต่อจีดีพีแน่นอน