3 เหตุผลหนุนหุ้นไซส์เล็กสหรัฐฯ ฟื้นตัวต่อเนื่อง

26 พ.ย. 2567 | 09:07 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 10:00 น.

3 เหตุผลหนุนหุ้นไซส์เล็กสหรัฐฯ ฟื้นตัวต่อเนื่อง :คอลัมน์ มันนี่ดีไอวาย โดย นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ กลุ่มหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ มีช่วงเวลาที่ยากลำบากและให้ผลตอบแทนแพ้กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565

นับเป็นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นที่เร็วและแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเงินของสหรัฐฯ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน 

ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าว กดดันหุ้นกลุ่มขนาดเล็กสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนทางการเงินอ่อนไหวไปกับแนวโน้มดอกเบี้ยมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อกำไรบริษัทขนาดเล็กให้อ่อนแรงลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี สำหรับไตรมาส 4 ปี 2567 การลงทุนกับกลุ่มหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ กลับมามีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญที่คาดว่าจะช่วยหนุนการฟื้นตัวต่อเนื่อง คือ

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีในปีนี้และปีหน้า แม้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยอาจน้อยลง อ้างอิงจาก Bloomberg Consensus ทีคาดการณ์การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ปีนี้อยู่ที่ระดับ 2.6%YoY และปีหน้าอยู่ที่ระดับราว 1.8% โดยมีภาคบริการและการบริโภคภายในประเทศ เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเติบโต

โดยเฉพาะภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดี Trump ที่มีนโยบายชัดเจนว่า จะสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงคาดว่า จะส่งผลดีต่อกลุ่มหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ ที่มีรายได้มาจากภายในประเทศเป็นหลัก ถึงแม้ นโยบายการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศจีนของประธานาธิบดี Trump อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นและอาจส่งผลให้จำนวนครั้งของการลดดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2568 น้อยกว่าที่เคยประเมินไว้

มุมมองของนักลงทุนผ่าน CME FedWatch Tool ล่าสุด คาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในปีหน้า เพียงแค่ 2 ครั้ง ขณะที่ Dot Plot ของ Fed เมื่อเดือน ก.ย.ส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2568

"หากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้แข็งแกร่งต่อเนื่อง น่าจะส่งผลบวกหนุนหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ และช่วยลดผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยที่น้อยกว่าคาดการณ์เดิม"

  • ถัดมา คือ แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนกลับมาขยายตัวในปีหน้า ซึ่งช่วงนี้เป็นฤดูกาลรายงานผลประกอบการ (Earnings Season) งวด 3Q24 พบว่า บริษัทจดทะเบียนในดัชนี Russell 2000 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ ทยอยรายงานผลประกอบการออกมาแล้วราว 47% ของจำนวนบริษัททั้งหมดในดัชนี แม้ว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) รวม จะลดลงราว 3.8% YoY แต่ถือว่า ดีกว่าที่ตลาดคาด

ดังนั้น เมื่อจบฤดูกาลรายงานงบรอบนี้ แล้วกำไรรวม ยังทำได้ดีกว่าที่ตลาดคาด ก็มีโอกาสที่นักวิเคราะห์ในตลาด อาจปรับประมาณการกำไรขึ้นได้ในอนาคต ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Bloomberg Consensus ณ วันที่ 4 พ.ย. 2567 ได้คาดการณ์ว่า EPS ของดัชนี Russell 2000 จะหดตัวแรงราว 21.4% YoY ในปีนี้

3 เหตุผลหนุนหุ้นไซส์เล็กสหรัฐฯ ฟื้นตัวต่อเนื่อง

แต่ปี 2025 คาดว่า จะพลิกกลับมาขยายตัวเด่นราว 40.7% YoY จากฐานต่ำในปีก่อนหน้า (Low Base Effect) ประกอบกับ ทิศทางดอกเบี้ยขาลงและแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสที่กำไรของบริษัทขนาดเล็กในสหรัฐฯ เติบโตได้ตามคาด หรืออาจดีกว่าคาดในปี 2568

  • และผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยจากสถิติตั้งแต่ปี 1992 ในปีที่มีการเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐฯ และไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอย พบว่า กลุ่มหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ มักปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวม ตั้งแต่ทราบผลการเลือกตั้งไปจนถึงระยะ 2 เดือนถัดมา 

เนื่องจากมีความชัดเจนทางการเมืองสหรัฐฯ และนักลงทุนมักมีความคาดหวังต่อนโยบายเศรษฐกิจในระยะถัดไป ซึ่งเป็น Sentiment บวกต่อกลุ่มหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯที่ถูกมองว่า เป็นตัวแทนเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐฯ

ส่วนการเลือกตั้งปี 2567 ประธานาธิบดี Trump จากพรรค Republican กลับมาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ในการพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้อาจต้องแลกกับการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศก็ตาม

ขณะที่พรรค Republican มีโอกาสครองเสียงข้างมากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มโอกาสที่นโยบายการลดภาษีนิติบุคคล (Corporate Tax Cuts) ของสหรัฐฯ จากเดิม 21% เหลือ 15% จะเกิดขึ้นจริงได้มากขึ้น

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า หากมีการลดภาษีนิติบุคคลได้ตามนโยบายของประธานาธิบดี Trump จะช่วยหนุนกำไรต่อหุ้น ของดัชนี Russell 2000โดยรวม ราว +7% ซึ่งมากกว่ากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (S&P500) ที่คาดว่าจะหนุนกำไรต่อหุ้น ราว +4%

ดังนั้น ด้วยผลการเลือกตั้งดังกล่าว น่าจะช่วยสนับสนุนกลุ่มหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ ที่ผลประกอบการมีความเชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก และมีโอกาสได้ประโยชน์จากมาตรการลดภาษีนิติบุคคล 

หุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น ด้วยปัจจัยสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และแนวโน้มนโยบายกระตุ้นจากรัฐบาลชุดใหม่

แต่หากปัจจัยสนับสนุน ไม่ได้เป็นไปตามคาด เช่น รัฐบาลของประธานาธิบดี Trump ไม่สามารถผลักดันมาตรการลดภาษีนิติบุคคล ให้เกิดขึ้นจริงได้ หรือลดได้แต่อัตราการลดน้อยกว่าที่ตลาดคาด ก็อาจส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ มีความผันผวนสูงขึ้นได้

โดยปกติแล้ว การเคลื่อนไหวของหุ้นขนาดเล็ก มักมีการแกว่งตัวมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ดังนั้น นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างจำกัด อาจใช้วิธีการจัดพอร์ตแบบกระจายความเสี่ยง ผสมผสานกับหุ้นขนาดใหญ่ เพื่อรักษาสมดุล ไม่ให้พอร์ตลงทุนโดยรวมมีความผันผวนที่สูงเกินไป   

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,047 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567