อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.21 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15-31.25 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบ 31.10 - 31.30 บาทต่อดอลลาร์ เพราะ หากเงินบาทอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของ เงินดอลลาร์ ก็อาจเผชิญแรงซื้อจากฝั่งผู้ส่งออกที่รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าไปมากกว่า ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ ขณะที่ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ ต่างรอที่จะซื้อสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าใกล้ระดับ 31.00-31.10 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ เงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบต่อไป จนกว่าจะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามา ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้น ต้องติดตามการแจกจ่ายวัคซีนในไทย และ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติในฝั่งหุ้นไทยได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15-31.25 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ โดยรวมทรงตัวและเริ่มติดแนวต้านอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P500 ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุจุดสูงสุดก่อนหน้าได้ สะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวและต่างรอคอยการรายงานข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์ต่อไป อย่างไรก็ดี มีเพียงหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ ที่สามารถปรับตัวขึ้นโดดเด่น ตามภาพเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวแข็งแกร่ง หนุนให้ ดัชนี Russell2000 พุ่งขึ้นกว่า 1.12% ส่วนหุ้นในกลุ่มเทคฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงกว่า 4bps สู่ระดับ 1.53% ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น 0.31% ส่วน ดัชนี S&P500 แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า
เช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป ตลาดก็เริ่มติดแนวต้านเช่นกัน และเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่ได้ปรับตัวขึ้นโดดเด่นนับตั้งแต่ต้นปี อาทิ หุ้นกลุ่มยานยนต์ อย่าง Volkswagen -1.9%, Daimler -1.4% รวมถึงหุ้นในกลุ่มการเงินก็โดนขายทำกำไรเช่นกัน Santander -1.8%, BNP Paribas -1.6% ทำให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดลบราว 0.04%
ทางด้านตลาดบอนด์ เรามองว่า การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กว่า 4bps สู่ระดับ 1.53% ก่อนรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) อาจนำไปสู่ความผันผวนในตลาดการเงินได้ หากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ก็อาจสร้างความกังวลเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงความกังวลว่าเฟดอาจลดการอัดฉีดสภาพคล่องไวขึ้น ทำให้ ผู้เล่นในตลาดบอนด์อาจกลับมาขายทำกำไรและลดสถานะถือครองบอนด์สหรัฐฯ 10ปี ลง ซึ่งจะส่งผลให้ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นและกลับมาแกว่งตัวใกล้สู่ระดับ 1.60% ได้ไม่ยาก
ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มมีการเตรียมรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯในวันพฤหัสฯ ส่งผลให้เงินดอลลาร์ซึ่งมักถูกใช้เป็นหลุมหลับภัยชั่วคราว (Safe Haven asset) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.08 จุด โดยล่าสุด เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2173 ดอลลาร์ต่อยูโร ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ก็ได้กดดันให้ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงมากว่า 4bps ก็ตาม ทำให้ ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,896 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและผู้เล่นบางส่วนก็อาจเดินหน้าขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง พร้อมกับเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ เพื่อเตรียมรับมือกับรายงานข้อมูลเงินเฟ้อในวันพฤหัสฯ ที่อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินในระยะสั้นได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (9 มิ.ย.) เคลื่อนไหวในกรอบ 31.17-31.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ ยังคงใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น แม้ว่าเงินดอลลาร์ฯ จะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดี อาทิ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานที่พุ่งสูงขึ้นในเดือนเม.ย.
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.15-31.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์โควิด 19 และแผนการจัดหาวัคซีนของไทย ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. ของจีน และตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย. ของสหรัฐฯ