ในระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อตกลงทางการค้าที่ชื่อว่า Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทั้งประเด็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนและผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป เช่น ผลกระทบต่อเกษตรกรที่จะถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์จากต่างชาติจากการเข้าร่วม UPOV1991 หรือประเด็นด้านราคายาที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าร่วม TRIPS Plus
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อตกลงทางการค้าทุกฉบับ จะมีคนได้ประโยชน์และคนเสียประโยชน์ การต่อต้านจากผู้เสียประโยชน์จึงเป็นเรื่องปกติ หัวใจสำคัญ คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการถกเถียง เจรจา และตัดสินใจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีมาตรการเตรียมความพร้อม ชดเชย และเยียวยาให้กับกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม
กรณีของไทย KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า CPTPP เป็นมากกว่าข้อตกลงทางการค้า แต่จะเป็นปัจจัยกำหนดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐ ฯ กลับเข้าร่วมข้อตกลงการค้านี้อีกครั้ง
การไม่เข้าร่วม CPTPP อาจจะก่อให้เกิดต้นทุนมหาศาลคือ ผลกระทบต่อการแข่งขันด้านการส่งออก โดยเฉพาะหากสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ซื้อคนสำคัญของโลกกลับเข้าร่วมข้อตกลงนี้อีกครั้ง ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพราะ ข้อตกลง CPTPP จะถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือกีดกันการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคในสงครามการค้าระหว่างจีน - สหรัฐฯ
และเมื่อถึงวันนั้นหากไทยต้องการเข้าร่วมข้อตกลงอาจไม่มีโอกาสในการกลับไปเจรจา รวมทั้งกฎเกณฑ์หลายอย่างจะเข้มงวดกว่าเดิมมากตามแนวนโยบายของสหรัฐฯ KKP Research ประเมินว่าในอีกประมาณ 2 ปีหลังจากนี้เป็นเวลาที่ โจ ไบเดน อาจตัดสินใจกลับเข้าร่วม CPTPP อีกครั้ง
ความเสี่ยงอีกประการที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ การย้ายฐานการผลิตของประเทศที่อยู่ในข้อตกลง CPTPP อย่างญี่ปุ่นที่อาจมีการย้ายออกจากไทยและไปตั้งฐานการผลิตที่เวียดนามซึ่งมีข้อได้เปรียบทั้งค่าแรงที่ถูกกว่า เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีกว่า และสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการเข้าถึงตลาดใหญ่ๆจากการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงสำคัญ และสร้างผลกระทบมหาศาล
เพราะญี่ปุ่นมีการลงทุนทางตรงในไทยกว่า 33% ของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทั้งหมด และ 40% ของจำนวนการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดเป็นภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีความสำคัญมากในฐานะสินค้าส่งออกของไทยไม่แพ้ภาคเกษตร
นอกจากนี้ภาคการผลิตอื่น ๆ ก็จะเจอความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งจำนวนแรงงานภาคการผลิตของไทยมีจำนวนแรงงานสูงถึง 6 ล้านคน (คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของภาคเกษตร) คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญกับความเสี่ยงในแง่ผลกระทบต่อรายได้และการจ้างงานมหาศาลเช่นกัน
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า กระแสต่อต้าน CPTPP ส่วนหนึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาครัฐที่อยู่ในระดับต่ำและการสื่อสารนโยบายที่ไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบ สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และมีนโยบายลดผลกระทบ เตรียมความพร้อม และชดเชยเยียวยากับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม และที่สำคัญที่สุดคือการพยายามเพิ่มความสามารถของภาคเศรษฐกิจไทยเองให้แข่งขันทัดเทียมกับนานาชาติในระยะยาว
ปัจจุบันการเจรจา CPTPP ของไทยยังอยู่ในเพียงขั้นการขอเข้าร่วมเจรจาเท่านั้น ไม่ควรรีบปฏิเสธข้อตกลง CPTPP ในวันนี้แต่ควรศึกษาประโยชน์และผลเสียให้ครบถ้วนรอบด้าน ศึกษาหาทางเลือกในการปรับตัวและเตรียมความพร้อมที่จะทำให้เราได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือเปลี่ยนข้อจำกัดเหล่านั้นให้กลายเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาวเช่นเดียวกับที่หลายประเทศได้ทำสำเร็จมาแล้ว
ทั้งนี้ ญี่ปุ่น แคนาดา หรือสิงคโปร์ ตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลงนี้ จากสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก รวมไปถึงการปฏิรูปและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่สากลโดยเฉพาะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน การสนับสนุนการแข่งขัน และการต่อต้านการคอร์รัปชั่น หากไทยจะเจรจาข้อตกลงการค้าอื่น ๆ ก็จะต้องยอมรับกฎเกณฑ์ลักษณะที่คล้ายคลึงกับ CPTPP อยู่ดี
การปฏิเสธข้อตกลงทางการค้าใหม่ ๆ หรือการทำได้อย่างล่าช้าจะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยตั้งแต่หลังปี 2007 มาไทยมีการทำข้อตกลงการค้า (FTA) เพิ่มเพียง 1 ฉบับเท่านั้น ในขณะที่เวียดนามมีการทำเพิ่มไปแล้วถึง 6 ฉบับ ดังนั้นหากประเทศไทยยังหวังจะพึ่งพาการส่งออก แทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าใหม่ ๆ ที่มีกฎเกณฑ์ที่ถูกคัดค้านในปัจจุบัน
โอกาสที่เกิดขึ้นเกิดจากหลักการของกฎระเบียบใหม่ ๆ ยังจะทำให้ไทยได้รับการยอมรับจากประเทศพัฒนาแล้วและจะเป็นกลไกที่เพิ่มประสิทธิภาพของตลาดให้ดีขึ้น เช่น ข้อตกลง UPOV1991 ที่ให้ความคุ้มครองในการพัฒนาพันธุ์พืช ข้อตกลง TRIPS Plus ที่ให้ความคุ้มครองยา ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดสินค้าใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเป็นที่มาของการเติบโตระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมข้อตกลงจะนำมาซึ่งความเสี่ยงหลายอย่าง เพราะคนไทยอาจไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติได้ ซึ่งหลายส่วนอาจเป็นผลมาจากนโยบายที่ผิดพลาดในอดีตด้วย กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ไม่ควรถูกทอดทิ้ง ทางออกระยะสั้นคือการเจรจายืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎเกณฑ์ใน CPTPP เพื่อชะลอผลกระทบและเตรียมความพร้อม แต่ท้ายที่สุดการแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องมาจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหมาะสมจากภาครัฐโดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภาพ หรือพัฒนาความสามารถของเกษตรกร
งานวิจัยโดย HFFA Research บริษัทที่ปรึกษาอิสระด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่ที่เยอรมนี ชี้ว่าเวียดนามที่ตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลง UPOV1991 ในปี 2006 (มีประเทศเข้าร่วมข้อตกลงนี้แล้วกว่า 77 ประเทศ) ทำให้เกิดการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับนโยบายสนับสนุนภาคเกษตร
ที่สำคัญ คือ การปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร การฝึกอบรมและส่งเสริมทักษะให้กับเกตรกร และการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในภาคเกษตรมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ภาคเกษตรของเวียดนามมีผลิตภาพที่สูงขึ้นและเกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้นได้หลังเข้าร่วมข้อตกลง