กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์คันใหม่ ด้วยการเสนอให้กรมสรรพสามิตจัดตั้งกองทุนจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับรถยนต์เก่าที่ยังใช้งานอยู่ ภายใต้เงื่อนไขว่าหากผู้ใช้รถซื้อรถยนต์ใหม่โดยนำคันเก่าเข้าสู่กระบวนการกำจัดซากที่ได้มาตรฐานจะได้รับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนคืนพร้อมดอกเบี้ย
รถยนต์เก่า 9 ล้านสะเทือน
แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม -ตุลาคม) ตัวเลขการขายเติบโตแบบถดถอย ทำได้เพียง 838,847 คัน ขยายตัว 0.6%
ขณะที่ยอดขายรายเดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคมที่ผ่านมาการขายรถยนต์ขยายตัวลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 5 เดือน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และ ความเข้มงวดของไฟแนนซ์ในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่ตลาดส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท และสงครามการค้าที่มีผลทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว
ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทำให้ภาคเอกชน ค่ายรถ นำโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์คันใหม่ ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่จะนำเสนอคือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถเก่า-การกำจัดซากรถเก่า พร้อมให้อินเทนซีฟในการซื้อรถยนต์คันใหม่ ซึ่งจากตัวเลขกรมการขนส่งทางบกพบว่าปัจจุบันมีรถยนต์เก่าอายุเกิน 10 ปีที่จดทะเบียนก่อนปี 2552 มีประมาณ 26 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ส่วนบุุคคลประมาณ 9 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่งส่วนบุุคคลไม่เกิน 7 คน 4.07 ล้านคัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน 3.8 แสนคัน รถกระบะ 4.6 ล้านคัน
ถกสรรพสามิต16 ธ.ค.
นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 จะเข้าหารือ กับกรมสรรพสามิตโดยมี 2 เรื่องได้แก่ กองทุนบริหารจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และอีกหนึ่งเรื่องด่วนที่ต้องการนำเสนอคือกองทุนจัดการรถเก่า-การกำจัดซากรถ
“ผู้ประกอบการที่เป็นค่ายรถยนต์กำลังคุยกันอยู่กับกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอมาตรการที่เป็นรายละเอียด อย่างไรก็ตามแนวคิดที่เราจะนำเสนอนี้ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน เพราะภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นทำอย่างไรจะกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถใหม่ ไม่เพียงเท่านั้นมาตรการนี้ยังจะช่วยลด PM 2.5 ที่ออกมาจากรถเก่าได้อีกด้วย”
ปัจจุบันรถเก่าอายุรถยิ่งมากยิ่งเสียภาษีถูก ดังนั้นจึงมองว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขนส่ง, พ.ร.บ. รถยนต์ การปรับโครงสร้างการจัดเก็บป้ายวงกลม รถที่ขาดการบำรุงรักษาหลัง 7 ปี แล้วเข้าไปต่อภาษี ต้องมีการตรวจอย่างจริงจัง เพื่อดูค่ามลพิษ ถ้าหากค่าต่างๆ ไม่ดีก็ต้องปรับเปลี่ยน ส่วนรถที่มีอายุเกิน 10 ปี ก็มีค่าธรรมเนียมพิเศษที่สูงขึ้น เพื่อไปบำรุงรักษารถให้ดีมากขึ้นกว่านี้
ให้สิทธิพิเศษซื้อรถใหม่
ส่วนรถเก่าที่วิ่งอยู่บนถนน ควรมีมาตรการจัดการอย่างเป็นระบบ ในการให้สิทธิพิเศษกับผู้ใช้รถ อาทิ การให้เครดิตกับรถที่จะทิ้งหรือเป็นรถเก่า ก็สามารถเอาไปสแคร็บหรือการชำแหละซากรถ ตรงจุดนี้ก็จะได้เครดิตจากกระทรวงการคลัง หรือ กรมสรรพสามิต ซึ่งอาจจะเป็นการลดภาษีสรรพสามิตของรถใหม่ที่จะซื้อออกไป
“แนวคิดของเรา อาจจะเป็นการตั้งเป็นกองทุน ที่จะทำหน้าที่บริหารจัดการ หากผู้ที่เข้าร่วมโครงการนำรถเก่าที่ไม่ใช้แล้ว หรือรถที่เป็นเศษเหล็กผ่านกระบวนการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการถอดชิ้นส่วนเอาไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น หรือเอาเหล็กไปใช้ ทางโครงการก็จะมอบเงิน หรือให้เปอร์เซ็นต์ส่วนลดเพื่อนำไปซื้อรถคันใหม่ ส่วนใครที่จะเป็นเจ้าภาพเรื่องโรงงานกำจัดซาก อาจจะเป็นภาครัฐ หรือสถาบันยานยนต์ก็ได้ แต่ในอนาคตหากมีผู้ประกอบการเอกชนเห็นโอกาสก็อาจจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจกำจัดซากนี้”
สมาคมรถใช้แล้วหนุน
นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เห็นด้วยกับแนวคิดของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เกี่ยวกับรถเก่า เพราะปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการจัดการเกี่ยวกับรถเก่า ซากรถ ทำให้รถล้นตลาด และมีผลต่อราคารถที่ผันผวน ดังนั้นหากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพูดคุยหารือ ทางสมาคมก็พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสนับสนุน
“เพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซีย มีระบบจัดการกับรถเก่ามานานแล้ว และส่งผลดีทั้งระบบรถยนต์ที่บ้านเขา ทั้งรถเก่าและรถใหม่ ขณะที่บ้านเรามีรถเก่าหรือรถที่เราเรียกว่าสุสานรถอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเรามีระบบจัดการที่ดี ก็จะทำให้รถมือ 2 ที่มีอยู่ในตลาดดีขึ้นไปด้วย”
นายวิสุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมผู้ประก;อบการใช้แล้วเคยนำเสนอแนวคิดในการออกกฎควบคุม-บริหารจัดการรถเก่า และเสนอให้มีโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ เพราะปัจจุบันในประเทศจีน หรือ ญี่ปุ่นมีโรงงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ส่วนการลงทุนหรือระบบจัดการรถเก่าจะเป็นรูปแบบไหน คาดว่าต้องใช้เวลาศึกษา แต่เบื้องต้นมองว่าต้องร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต้องจริงจัง และทำงานร่วมกัน
ลุ้นรัฐบาลรับลูก
หนึ่งในภารกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะเข้าไปหารือกับกรมสรรพสามิต ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ ว่าด้วยการจัดการรถเก่า - กำจัดซาก ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง และช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 หากดำเนินการได้จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่มีรถเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว หรือเป็นซากรถ ให้นำรถมาเข้าร่วมโครงการกำจัดซากแล้วเจ้าของรถก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ ส่วนลดในการซื้อรถคันใหม่ หรือพวกดอกเบี้ยพิเศษต่างๆ
สาเหตุที่ต้องเข้ามาแตะต้องรถเก่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีตัวเลขรถที่จดทะเบียนสะสมมากกว่า 39 ล้านคัน (ตัวเลข ณ ปี 2561 )โดยหลักๆ ที่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนั้น (รย.1-รย.2) มีกว่า 9.8 ล้านคัน ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคล (รย.3) มีกว่า 6.6 ล้านคัน แต่หากนับย้อนหลังไป 10 ปี (ปี 2552 ) มียอดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจดทะเบียนจำนวน 4 ล้านคัน ขณะที่รถบรรทุกส่วนบุคคลนั้นมีจำนวน 4.6 ล้านคัน
หากบวกตัวเลขรถประเภทต่างๆ เข้ามารวมอีกไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก, รถโดยสาร หรือรถประจำทาง จำนวนรถเก่าในประเทศจะมากกว่านี้อีก และด้วยจำนวนรถสะสมที่มากมายอยู่บนท้องถนน บางคันไม่ได้มีการใช้งานจอดเป็นสุสานรถ ดังนั้นหากมีข้อเสนอแนวทางนี้ออกมา ผู้ประกอบการค่ายรถก็มีความหวังว่าเจ้าของรถเก่าเหล่านี้จะนำรถมาเข้าโครงการทำลายซาก และเลือกรับสิทธิประโยชน์
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของรถเก่าบางรายเลือกที่จะเก็บรถไว้อยู่ ก็อาจจะต้องเตรียมใจสำหรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีใหม่ เพราะหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเตรียมนำเสนอการรื้อภาษี เพราะรถเก่าทุกวันนี้ยิ่งนานยิ่งเสียภาษีถูก ซึ่งสวนทางกับนโยบายที่รัฐต้องการสนับสนุนรถยนต์ที่ปล่อยปริมาณ CO2 ตํ่า แต่รถเก่ามีปริมาณการปล่อย CO2 สูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา PM 2.5
ทั้งหมดนี้ยังเป็นแนวคิดของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ส่วนหนึ่งต้องการกระตุ้นให้ผู้ที่เป็นเจ้าของรถเก่า หันมาเลือกซื้อรถใหม่ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ รัฐจะรับลูกต่อหรือไม่ก็คงต้องรอลุ้นกันอีกที
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562