หลังจากที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือต่อกรมสรรพสามิต เกี่ยวกับการเยียวยากลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ยื่นข้อเรียกร้องในการลดภาษีรถใหม่ หรือลดภาษีสรรพสามิตลง 50%, ให้รัฐสนับสนุนโครงการรถเก่าแลกรถใหม่โดยให้รัฐซับซิไดซ์ (subsidize)ราคารถเก่าในมูลค่า 100,000บาท/คัน, รวมทั้งการเลื่อนการใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 5 และ 6 ออกไปเป็นปี 2565 โดยข้อเสนอทั้งหมดได้นำเสนอไปยังกรมสรรพสามิตแล้ว
กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้ นาย วิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ ประธานสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดผ่านเพจสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว โดยมองว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ถูกนำเสนอไปยังกรมสรรพสามิตจริง หากแต่ว่าในภาคปฏิบัติ "ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะเกิดขึ้น" เนื่องจากข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่่วนเสีย(stakeholders) ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำไปจนถึงธุรกิจปลายน้ำทั้งสิ้น
"ผมเชื่อมั่นว่าสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ซึ่งเป็นธุรกิจปลายน้ำ ยังไม่เคยได้รับการปรึกษาหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแน่นอน และขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมสรรพสามิต คุณพชร อนันตศิลป์ ที่ท่านได้ให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่า "การลดภาษีรถยนต์ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมในเวลานี้"
นาย วิสุทธิ์ กล่าวต่อไปว่า หากย้อนเวลากลับไปในปี 2012 ประเทศไทยได้รับบทเรียนจากการที่ภาครัฐออกนโยบายซับซิดี้ (subsidy)ให้กับภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนการขายรถยนต์ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นจำนวนเงิน 70,000-100,000บาท/คัน สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์คันแรกในซึ่งการออกนโยบายเชิงมหภาคดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้วที่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำเป็นอย่างมาก
เนื่องจากมูลค่าราคารถยนต์ใช้แล้วที่ผู้ประกอบการครอบครองอยู่เพื่อจัดจำหน่ายมีการปรับราคาลงอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์ใช้แล้วต้องล้มหายตายจากไปจากธุรกิจนี้กว่า 30% จากการออกนโยบายที่ไม่ได้คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย(stakeholders)ในองค์รวม
"โควิด -19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แต่เพียงกลุ่มเดียว แน่นอนว่าธุรกิจต้นน้ำจนถึงธุรกิจปลายน้ำของอุตสาหกรรมยานยนต์ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น การเรียกร้องเพื่อให้ภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมของท่านโดยไม่คำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง "เป็นการกระทำที่น่าละอายและเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด" "
นาย วิสุทธิ์ กล่าวว่า ในฐานะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นกลุ่มองค์กรในสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ ตนเองจึงอยากให้ทางสภาฯไตร่ตรองข้อเรียกร้องให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะยื่นข้อเรียกร้องไปยังภาครัฐ มิฉะนั้นความน่าละอายในครั้งนี้ แน่นอนว่าสภาอุตสาหกรรมยานยนต์จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เช่นกัน
"หากปัญหาของพวกท่านคือยอดการผลิตและยอดจัดจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง ท่านก็ควรไปปรับปรุงพัฒนาวิธีการจัดจำหน่ายในยามวิกฤตินี้ให้ดีขึ้น เฉกเช่นเดียวกับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีทุนในการประกอบธุรกิจน้อยกว่าท่านได้ปรับตัวกันไปแล้วในช่วงวิกฤตในครั้งนี้"
นาย วิสุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงมือแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก่อนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพ การที่ทางกลุ่มฯยังไม่ได้ลงมือแก้ปัญหาแต่กลับเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้ไข ซ้ำยังสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นด้วย ตนเองคิดว่าคณะผู้บริหารของสอท.ยังขาดความเป็นมืออาชีพเป็นอย่างมาก
"สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วยินดีเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศร่วมกับท่าน การร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำยันอุตสาหกรรมปลายน้ำเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน อย่าให้บทเรียนที่เคยเกิดขึ้นแล้วมาซ้ำเติมเศรษฐกิจของเราด้วยความโลภอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาเมื่อ 8 ปีก่อนอีกเลย"
นาย วิสุทธิ์ กล่าวว่า การเสนอให้ภาครัฐซับซิไดซ์ (subsidize)ราคารถยนต์ใช้แล้วและผลักภาระมาให้อุตสาหกรรมข้างเคียงโดยไม่ปรึกษาหารือกันเป็นการกระทำที่ไม่มีมารยาทในทางธุรกิจ ข้ออ้างที่ว่าการที่การขายรถยนต์ใหม่มากขึ้นจะทำให้รถยนต์ที่ปล่อยไอเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีจำนวนลดลง ล้วนแล้วแต่เป็นข้ออ้างทางธุรกิจ หากท่านมีวัตถุประสงค์เช่นนั้นจริง คงไม่เสนอให้ภาครัฐเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร5และยูโร6ออกไปด้วยเช่นกัน
"อุตสาหกรรมของพวกเรายังมีวิถึทางในการพัฒนาไปอีกมากมายในหลากหลายมิติ อุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้วเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสนับสนุนการขายรถยนต์ใหม่ในประเทศนี้มากว่า50ปี วิกฤตโควิด -19 ในครั้งนี้ หากเราเลือกที่จะใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส จะเป็นการปฏิวัติการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบได้เช่นกัน"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "ลดภาษีรถยนต์" 50% "สรรพสามิต" รับลูกศึกษารายละเอียด