ตามที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ประเมินสถานการณ์เลวร้ายสุดๆ ว่า ยอดผลิตรถยนต์ปีนี้จะลดเหลือ 1 ล้านคัน แบ่งเป็นขายในประเทศและส่งออกในสัดส่วน 50:50% เนื่องจากวิกฤติโควิด-19กระทบเศรษฐกิจทั้งโลก ยอดคำสั่งซื้อต่างประเทศหาย กำลังซื้อในประเทศไม่มี ผู้คนขาดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย พร้อมความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ
ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ "ยอดขายรถยนต์" ในประเทศ ปี 2563 มีโอกาสเหลือ 5 แสนคัน ลดลง 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ทำได้ 1.007 ล้านคัน ขณะที่ตลาดรถยนต์ 4 เดือนแรกของปี (ม.ค.-เม.ย.63) ทำได้ 230,173 คัน ลดลง 34.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ในขณะที่ “นิสสัน” เป็นค่ายรถยนต์รายแรกที่ออกมาฟันธงว่า ตลาดรวมปีนี้จะเหลือ 6.0 - 6.1 แสนคัน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยยอดขายกลุ่มอีโคคาร์จะได้รับผลกระทบหนักกว่าปิกอัพ และ 4 เดือนที่ผ่านมาในกลุ่มอีโคคาร์ยอดตกไป 25% ในส่วนของนิสสัน มีส่วนแบ่งการตลาดในรถยนต์กลุ่มนี้ 10%
“เราไม่อยากให้ ยอดขายรถยนต์ปี 2563 ต่ำกว่า 6 แสนคัน เพราะจะมีผลกระทบมาก และกระทบกับทุกค่ายรถ รวมไปถึงธุรกิจและคู่ค้าที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ซึ่งตัวเลขนี้คำนวณตามความเป็นจริง ประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้” นายราเมช นาราสิมัน ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวและว่า
ไม่เฉพาะนิสสัน แต่ทุกค่ายรถยนต์ยอดขายลดลงทั้งหมด และต้องยอมรับว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย บริษัทต้องคิดใหม่ทำใหม่ในแผนธุรกิจ อย่างการเปิดตัว “นิสสัน คิกส์” เลื่อนจากเดือนมีนาคมออกมาเป็นเดือนพฤษภาคม พร้อมเปิดตัวออนไลน์ ซึ่งบริษัทวางแผนว่า เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ จะมีรถพร้อมจำหน่าย
ในส่วนฐานการผลิต จ.สมุทรปราการ ที่โรงงาน 1 กลับมาทำงานปกติแล้ว แต่โรงงาน 2 ยังหยุดผลิตถึง 31 พฤษภาคมนี้ และรอการสรุปอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะต้องพิจารณาถึงความพร้อมของผู้ผลิตชิ้นส่วน หรือซัพพลายเชนทั้งระบบด้วย
“กลยุทธ์ในไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เรามุ่งมั่น 100% ในการขับเคลื่อนธุรกิจในไทย เพราะที่ผ่านมานิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย มีบทบาทสำคัญมากอยู่แล้ว เช่นเดียวกับกับการลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ในโครงการรถยนต์ไฟฟ้า เปิดตัวด้วยนิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ เป็นประเทศแรกของโลก และเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากญี่ปุ่นที่ได้ผลิตเทคโนโลยีนี้” นายราเมช กล่าวสรุป
นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาด 4 เดือนตก 34.2% โดยกลุ่มรถยนต์นั่งลดลง 36.6% รถเพื่อการพาณิชย์ลดลง 32.6% เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์
“เดือนพฤษภาคมภาครัฐได้ผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง ปรับเวลาเคอร์ฟิว แต่ยังคงให้ประชาชนเฝ้าระวังการใช้ชีวิตตามมาตรการความปลอดภัยเพื่อช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ลดความตึงเครียดในการใช้ชีวิตของประชาชน ที่สำคัญหลายค่ายรถยนต์ได้กลับมาเปิดสายการผลิตอีกครั้ง ทำให้แนวโน้มตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมมีทิศทางดีขึ้นจากเดือนเมษายน” นายสุรศักดิ์ กล่าวสรุป
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563