ข้อเสนอมาตรการกระตุ้นซื้อรถยนต์กลับมาฮือฮาอีกครั้ง เมื่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร กลุ่มภาคตะวันออก 1 (จังหวัดอีอีซี) ที่ระยอง (25 ส.ค.25632) ว่าจะเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันใหม่ หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อรักษาฐานผลิตรถยนต์ในไทย ท้ายสุดนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่มีวาระดังกล่าวเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม ครม.สัญจรที่ระยองในครั้งนี้
อย่างไรก็ตามในการประชุมครม.สัญจร ดังกล่าว นายสุริยะได้มีการหยิบยกปัญหาของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ค่ายรถยนต์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19นำมารายงานเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบ และร่วมกันหาทางออกต่อไป
จากกระแสดังกล่าว ได้ส่งผลให้บรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆ มีทั้งสนับสนุน และเห็นต่างว่าจะทำให้วงการตลาดรถยนต์ช็อก หากมาตรการดังกลาวไม่มีความชัดเจนในทันที จะส่งผลให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อหรือต้องการรถยนต์คันใหม่ ต้องชะลอการซื้อรถยนต์ออกไป เพราะหวังจะรอมาตรการดังกล่าวออกมา ซึ่งจะกระทบต่อตลาดรถยนต์ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้
หวั่นช็อกตลาด
แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายใหญ่ เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการนี้ ต้องรีบดำเนินการทันที เพราะไม่เช่นนั้น ลูกค้าจะชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ออกไป เพื่อรอมาตการส่งเสริมต่างๆ ส่งผลให้ยอดขายหยุดชะงัก
“รัฐบาลต้องชัดเจนหากจะออกมาตการนี้ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์คงต้องมาพูดคุยกันเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งต้องรีบดำเนินการทันทีเพื่อไม่ให้เกิดภาวะชะงัก หรืออาจจะบอกรายละเอียดคร่าวๆ ว่าลูกค้าที่ซื้อรถในช่วงเดือนนี้เก็บใบเสร็จเอาไว้ เพื่อขอรับสิทธิ์ลดหย่อนได้”
ทั้งนี้ เห็นว่ามาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้กับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่นั้น ในเบื้องต้นควรจะเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยกำหนดกรอบเวลาจนถึงสิ้นปี 2563 ส่วนจะลดหย่อนเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับฐานการเสียภาษีของแต่ละคน ยกตัวอย่างในกรณีที่ซื้ออีโคคาร์ ราคาประมาณ 7 แสนบาท เมื่อนำมารวมกับรายได้ส่วนบุคคล อาจจะเสียภาษีอยู่ที่ 20% ก็นำไปหักลดหย่อน ซึ่งจะไม่เกิน 1 แสนบาท
ค่ายรถเชียร์
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่ามาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้กับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยทั้งระบบอุตสาหกรรม มิใช่เพียงการขายรถยนต์ใหม่ แต่ยังช่วยทั้งซัพพลายเชน และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ฟื้นกลับมา
“อุตสาหกรรมรถยนต์ไม่ใช่แค่เพียงการขายรถ แต่มีผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ อีกจำนวนมาก ทั้ง ยาง เหล็ก โม แม่พิมพ์ เบาะ ไปจนถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน อย่างปั้มนํ้ามัน ธุรกิจขนส่งรถ บริการหลังการขาย ทั้งหมดนี้อยู่ในวงจรของอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้นถ้ามีมาตาการกระตุ้นตรงนี้ได้ก็จะเป็นสิ่งดี”
ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ตอนนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจโลก และโควิด-19 ที่ระบาดรอบ 2 ส่งผลให้การส่งออกชะงัก นั่นหมายความว่าไทยพึ่งพาการส่งออกไม่ได้แล้ว จึงต้องหันมาดูแลตลาดในประเทศ ดังนั้น หากมีมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้กับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาคึกคัก
กระตุ้นแค่จิ๊บๆ
ขณะที่ บล.เคทีบี มองมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับผู้ซื้อรถยนต์คันใหม่ ส่งผลบวกต่อตลาดรถยนต์ไม่มาก กรณีสมมติฐานให้ลดหย่อนภาษีสำหรับซื้อรถยนต์ใหม่ได้ 2 แสนบาท ประเมินมูลค่ารถยนต์ส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านบาท และฐานภาษีอยู่ที่ 20% พบว่าสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 4 หมื่นบาท คิดเป็น 4% ของมูลค่ารถยนต์ จึงมองว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ไม่มาก เพราะปัจจุบันค่ายรถยนต์ก็มีการให้ส่วนลดหรือโปรโมชั่นต่างๆ ระดับดังกล่าวอยู่แล้ว แต่หากมาตการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ให้มากกว่าที่ KTBST คาดจะเป็นบวกมากขึ้น
ยอดขาย“ต่ำสุด”
“วิจัยกรุงศรี” รายงานแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ 2563-2565 คาดยอดจำหน่ายรถยนต์ปี 2563 จะหดตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ขณะที่ค่ายรถยนต์ปิดโรงงานชั่วคราวในช่วงไตรมาส 2 และทยอยลดกำลังการผลิตเพื่อปรับสมดุลสต็อก คาดว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ปี2563 จะหดตัว 36.0-37.0%อยู่ที่ 1.27-1.29 ล้านคันโดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว 39.0-40.0% อยู่ที่ 6-6.1 แสนคันตํ่าสุดตั้งแต่ปี 2542 ส่วนยอดส่งออกรถยนต์ปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว 34.0-35.0% อยู่ที่ 6.9-0.7 แสนคัน และการจำหน่ายในประเทศ
วิ่งขอ“อัดฉีด
ข้อเสนอกระตุ้นซื้อรถใหม่นี้ค่ายรถยนต์ผลักดันตั้งแต่เดือนพ.ค.ในช่วงล็อกดาวน์คุมโควิด-19 ที่ยอดขายรถทรุดหนักแล้ว โดยเสนอผ่านสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาดูแล 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้เลื่อนบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 ออกไปก่อน จากเดิมที่จะมีผลในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ 2.ต้องการภาครัฐ ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ 50% ซึ่งจะทำให้รถมีราคาถูกลงถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถยนต์ใหม่ ทั้งนี้ ต้องเป็นรถที่ผลิตในประเทศเท่านั้น 3.มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่ โดยประชาชนนำรถเก่าอาจจะมากกว่า 20 ปี มาแลกซื้อรถใหม่และรับส่วนลด 1 แสนบาท ส่วน หนึ่งจะเป็นการลดมลพิษ PM2.5
บทเรียน“รถคันแรก”
ทั้งนี้ ในปี 2554 รัฐบาลเคยออกมาตรการ “รถคันแรก”เพื่อกระตุ้นตลาด โดยให้สิทธิประโยชน์คืนภาษีสรรพสามิตไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรถอีโคคาร์ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ที่ซื้อครบ 5 ปี ทำให้เกิดการดึงความต้องการในอนาคตมาเร่งซื้อครั้งใหญ่ ยอดขายพุ่งทะลุ 1.4 ล้านคัน แต่ผลต่อเนื่องของการบิดเบือนตลาดคือ ทำให้การขายรถยนต์ในปีถัดจากนั้นทรุดตัวลงต่อเนื่องหลายปี จนค่อยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในปี 2560
สุริยะ ขอ 3 เดือนลุย "รถเก่าแลกรถใหม่"
ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แผนงานเร่งด่วนที่กำลังเตรียมผลักดันคือ โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ โดยนำรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป มาเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นการบริหารจัดการซากยานยนต์ ซึ่งความคืบหน้าในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดด้านต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มแรกของ โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ จะให้ประชาชนนำรถเก่าที่อายุมากกว่า 15 ปี นำมาแลกสิทธิประโยชน์การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคัน ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับรถเก่าแลกรถใหม่จะต้องเป็นรถในกลุ่มพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดหรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อสรุป เพราะหากเป็นรถไฟฟ้าราคาอาจจะสูงเกินไป หรืออาจจะเป็นรถไฮบริด หรือ รถที่เป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนของไทย ซึงตรงนี้ต้องดูรายละเอียดอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า กำลังเตรียมปรึกษาหารือกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการหักลดหย่อนภาษีบุคคลและนิติบุคคลสำหรับ โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ โดยในเดือนกันยายนจะเริ่มประชุมและคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน ถึงจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการและเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ฟื้นโครงการ "รถเก่าแลกรถใหม่"