ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า กรมสบส.ได้เตรียมความพร้อมรองรับมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์เฟส 3 ในส่วนของร้านนวดเพื่อสุขภาพ นวดเสริมความงาม และสปา ที่ขึ้นทะเบียนกว่า 10,500 แห่ง แยกเป็นร้านนวดเพื่อสุขภาพ 9,400 แห่ง นวดเสริมความงาม 200 แห่ง และสปาอีก 900 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการ
โดยกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการ การจัดการสถานบริการ และผู้รับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องผ่านการประเมินความพร้อมของตนเอง (Self-Assessment) ในการจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ในการป้องกัน/ทำความสะอาด ได้แก่ จัดเตรียมหน้ากากผ้าหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ อุปกรณ์วัดไข้ น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดพื้นผิวจุดสัมผัสต่าง ๆ ภายในสถานบริการ รวมทั้งการจัดเก็บขยะมูลฝอยให้ถูกสุขลักษณะ
ในการให้บริการ ต้องมีพนักงานต้อนรับ สอบถามประวัติ บันทึกข้อมูลผู้รับบริการ ตลอดจนติดตามควบคุมดูแลการให้บริการ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยจัดระยะห่างของเก้าอี้นวดอย่างน้อย 1.5 เมตร ห้องบริการนวด 1 คนต่อห้อง ให้บริการได้ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง สถานที่เก็บเสื้อผ้าและอุปกรณ์มิดชิด มีช่องทางชำระเงินที่ปลอดภัยเน้นผ่านระบบออนไลน์ จัดระบบระบายอากาศให้ไหลเวียนถ่ายเทได้ดี
เมื่อเสร็จสิ้นการให้บริการแม่บ้านจะต้องเก็บผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ผ้าขนหนู ด้วยการม้วนออกจากตนเองห้ามสะบัดเพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นหรือละอองฝอยได้
สำหรับผู้รับบริการจะต้องผ่านการคัดกรองทุกครั้งที่เข้ารับบริการ ต้องไม่มีไข้ สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่รับบริการ ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังรับบริการ
ส่วนผู้ให้บริการ ต้องคัดกรองทุกวันก่อนเข้าทำงาน หากพบมีไข้ต้องหยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ ส่วนข้อห่วงใยเรื่องพนักงานนวดไทยที่กลับจากต่างประเทศนั้น ทุกคนจะต้องเข้ากระบวนการกักตัวสังเกตอาการตามที่รัฐกำหนด เมื่อครบ 14 วันตรวจไม่พบเชื้อโควิด19 หากจะมาทำงานในสถานประกอบการจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพตามข้อกำหนดต่อไป
ดร.สุวภรณ์ แนวจำปา ผู้อำนวยการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้านนวดและสปาต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบการประเมินตนเอง ของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19ให้ครบทุกข้อ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าผ่านตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เมื่อเป็นไปตามเกณฑ์แล้วจะถือว่าได้รับการอนุญาตให้เปิดบริการ
โดยผู้ประกอบการต้องพิมพ์ใบรับรองการผ่านประเมิน (e-certificate) และพิมพ์ QR Code เพื่อให้ผู้รับบริการลงทะเบียนเพื่อประเมินการใช้งานด้วย รวมทั้งจะต้องลงทะเบียนในเว็บไซต์ไทยชนะ.คอมเพื่อติดตามการรับบริการของประชาชนต่อไป โดยทุกสัปดาห์สถานประกอบการแต่ละแห่งต้องส่งรายงานผลการปฏิบัติงานตามแบบฟอร์มออนไลน์ และจะมีการสุ่มตรวจจากเจ้าหน้าที่ สบส.และเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดเพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เช็ก ผ่อนปรน ระยะ 3 กทม. แจงรายละเอียด คลายล็อกดาวน์ มีอะไรบ้าง