นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายลงโดยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ รวมทั้งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศที่ผ่อนคลายมากขึ้นนั้น พบว่าความต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทยเพิ่มมากขึ้น
เห็นได้จาก สถิติคนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ผ่านด่านตรวจคนหางานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของกรมการจัดหางาน เดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีจำนวน 2,394 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ที่มีคนหางานเดินทาง จำนวน 585 คน กว่า 4 เท่าตัว เดือนพฤษภาคม มีคนหางานเดินทางฯ 243 คน เดือนเมษายน มีคนหางานเดินทางฯ 557 คน และเดือนมีนาคมที่เป็นระยะเริ่มต้นของการแพร่ระบาดที่มีคนหางานเดินทางฯ 3,737 คน
“เพราะประเทศต่างๆ เริ่มกลับมาฟื้นฟูประเทศ เพื่อให้กิจกรรมด้านเศรษฐกิจกลับมาสู่สภาพปกติ และกำลังแรงงานถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคธุรกิจ ซึ่งแรงงานไทยเป็นประเทศลำดับแรกๆ ที่ตลาดแรงงานในต่างประเทศต้องการ และติดต่อเข้ามา เนื่องจากแรงงานไทย มีวินัยในการทำงานและมีทักษะฝีมือดี ประกอบกับประเทศไทยมีการบริหารจัดการโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับ ทำให้โอกาสของแรงงานไทยในการไปทำงานต่างประเทศ เพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะแรงงานประเภทฝีมือ และกึ่งฝีมือ อย่างไรก็ดี จะใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มช่องทางให้ ให้แรงงานไทยได้มีตลาดทำงานในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้พี่น้องแรงงานมีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งจะลดปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยได้ อีกทั้งยัง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำเงินกลับเข้าประเทศไทย ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก
โดยผลมวลรวมในปี 2563 มีรายได้เข้าประเทศรวมทั้งสิ้นกว่า 73,434 ล้านบาท จำแนกเป็น มกราคม 12,270 ล้านบาท กุมภาพันธ์ 10,305 ล้านบาท มีนาคม 11,361 ล้านบาท เมษายน 8,996 ล้านบาท พฤษภาคม 9,226 ล้านบาท และ มิถุนายน 10,341 ล้านบาท และกรกฎาคม 10,935 ล้านบาท” นายสุชาติฯ กล่าว
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การไปทำงานต่างประเทศ อย่างถูกต้องตามกฎหมายมีทั้งหมด 5 วิธี คือ 1.การเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง 2.การเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยบริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 3.การเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยกรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง ได้แก่ โครงการจ้างตรง :ไต้หวัน โครงการ IM : ประเทศญี่ปุ่น โครงการ EPS: เกาหลี โครงการ TIC 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ และ 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ
ซึ่งแผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างเดือน มิถุนายน-กันยายน 2563 ตั้งเป้าไว้ที่ 52,253 คน โดย คาดว่าจะส่งไปยัง ภูมิภาคเอเซีย เช่น ไต้หวัน 20,120 คน ญี่ปุ่น 3,818 คน สาธารณรัฐเกาหลี 6,421 คน มาลาเซีย 2,448 คน สิงคโปร์ 2,934 คน ภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ อิสราเอล 2,840 คน
ส่วนแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในต่างประเทศนั้น จากข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ณ เดือนกรกฎาคม 2563 มีจำนวน 121,922 คน อยู่ที่ในกลุ่มประเทศเอเชียและเอเชียใต้ 91,541 คน มากสุดคือไต้หวัน 59,375 คน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 24,312 คน มากสุดคือ อิสราเอล 21,916 คน กลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา และอื่นๆ 5,720 คน มากที่สุดคือ ฮังการี 693 คน และกลุ่มประเทศแอฟริกา 349 คน มากที่สุดคือ แอฟริกาใต้ 115 คน
“ ขอย้ำว่า รัฐบาล คำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงาน และถือประโยชน์ของแรงงานไทยเป็นอันดับสูงสุด พิจารณาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ จากมาตรการควบคุมป้องกัน และการสร้างความปลอดภัยให้กับแรงงานไทย ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่1-10 และสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว