อาณาจักร “เฟซบุ๊ก” ประเทศไทย

25 ส.ค. 2563 | 09:34 น.

ผ่าอาณาจักร การลงทุน “เฟซบุ๊ก” ในประเทศไทย หลังประกาศขู่ฟ้องรัฐบาล เหตุไม่พอใจสั่งปิดเพจ“รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” อ้างบั่นทอนการลงทุนของบริษัท พบ 3 ปีจ่ายภาษีให้รัฐแค่ 22 ล้านบาท

กรณีเฟซบุ๊ก เตรียมจะ ฟ้องร้องรัฐบาลไทย หลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลไทยได้ขอให้บริษัทปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในประเทศไทยเข้าถึงโพสต์หรือข้อความของ เพจ รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส บนเฟซบุ๊ก ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์

ต่อมาเฟซบุ๊กได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกระแสข่าวจะฟ้องรัฐบาลไทยกรณีสั่งให้บล็อกการเข้าถึงเพจรอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส ที่มีเนื้อหาผิดกฏหมาย โดยระบุว่าการดำเนินงานของเฟซบุ๊ก ต้องการปกป้อง และรักษาสิทธิต่างๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งการแทรกแซงนี้บั่นทอนการลงทุนในไทย และการดำเนินงานของสำนักงานในไทยด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เฟซบุ๊ก ยังระบุตอนหนึ่งว่า การแทรกแซงที่เกินขอบเขตของรัฐบาลเช่นในกรณีนี้ยังถือเป็นการบั่นทอนความสามารถของ เฟสบุ๊กในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงการดำเนินงานของสำนักงานในประเทศไทย การคุ้มครองดูแลพนักงานของบริษัทฯ และการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนโดยตรงต่อธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊ก เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ในชื่อ บริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 108 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นสัญญาติอเมริกัน

คณะกรรมการบริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบด้วย นายเดวิด วิลเลี่ยม คลิง นางสาวซูซาน เจนนิเฟอร์ ซิโมน เทย์เลอร์ และ นายไมเคิล ลี จอห์นสัน

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) บริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้รวมกว่า 715 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิแค่ 31ล้านบาท จ่ายภาษีให้รัฐ 22.5 ล้านบาท ดังนี้

  • ปี 2560 มีรายได้รวม 113.75 ล้านบาท รายจ่ายรวม 105.37 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5.57 ล้านบาท จ่ายภาษีเงินได้ 2.8 ล้านบาท
  • ปี 2561 มีรายได้รวม 252.87 ล้านบาท รายจ่ายรวม 233.65 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10.26 ล้านบาท จ่ายภาษีเงินได้ 8.96 ล้านบาท
  • ปี 2562 มีรายได้รวม 349.13 ล้านบาท รายจ่ายรวม 322.98 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15.35 ล้านบาท จ่ายภาษีเงินได้ 10.80 ล้านบาท

อาณาจักร “เฟซบุ๊ก” ประเทศไทย

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  กล่าวแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าภาษีที่ภาครัฐเก็บได้จะมาจากบริษัทที่มีสถานประกอบการถาวรในไทย สวนทางกับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ที่บริษัทข้ามชาติในโลกไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานในทุกประเทศก็ขายสินค้าและบริการในประเทศอื่นได้ทั่วโลก

อย่าง เฟซบุ๊ก รายได้โฆษณาในไทยจ่ายตรงให้กับ เฟซบุ๊ก ในสิงคโปร์ ทำให้รัฐบาลไทยยังไม่สามารถเก็บภาษีได้รวมถึงกรณี Netflix  (เน็ตฟิก) คนไทยที่ใช้บริการอยู่หากดูที่ท้ายใบเสร็จจะออกในชื่อ เน็ตฟิกเนเธอร์แลนด์ ไม่เสียภาษีให้ไทยแม้การใช้บริการ หรือการบริโภคเกิดขึ้นในประเทศไทย ตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เปิดบริการมาใช้ในประเทศไทย ทั้งรายได้และผู้ใช้งาน

“แม้ เฟซบุ๊ก จะตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง แต่การธุรกรรมทางด้านออนไลน์ ผ่านบัตรเครดิต ซึ่งเป็นการทำธุรกรรมนอกอาณาจักร ซึ่งประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุมในส่วนนี่ กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้นทั่วโลกก็พบสถานการณ์แบบนี้เช่นเดียวกัน” นายสืบศักดิ์กล่าว