นวัตกรรมทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า

06 พ.ย. 2567 | 00:00 น.

นวัตกรรมทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย... รศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4042

การขาดแคลนเงินทุนในการสนับสนุนกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ทุนธรรมชาติ (natural capital) ของโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงขึ้นที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า โลกกำลังอยู่ในยุคแห่งการสูญพันธุ์หมู่ (mass extinction) ครั้งที่ 6 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่การสูญพันธุ์เป็นวงกว้างนี้ เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ 

ด้วยเหตุนี้ ในกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ที่ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ให้การรับรองในปี ค.ศ. 2022 จึงได้บรรจุประเด็นเรื่องการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity finance) เป็นหนึ่งในสี่เป้าประสงค์สำหรับปี ค.ศ. 2050 รวมถึงได้กำหนดให้เป็นหนึ่งใน 23 เป้าหมายที่ต้องการบรรลุภายในปี ค.ศ. 2030 

ด้วยช่องว่างระหว่างจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และจำนวนเงินที่มีการใช้จ่ายจริงสูงถึง 700 ล้านเหรียญสหรัฐ  ประเด็นด้านการเงินจึงยังคงเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาดังกล่าว (Conference of the Parties: COP) ในปีนี้ และรัฐภาคีต่าง ๆ เริ่มให้ความสนใจเครื่องมือทางการเงิน ที่ช่วยด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น 

เครื่องมือในการระดมเงินทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพมีหลายชนิด บางชนิดเป็นเครื่องมือที่นักลงทุนคุ้นเคยกันดี เช่น ตราสารหนี้ (bond) ตราสารทุน (equity) บางชนิดก็เป็นเครื่องมือที่แปลกใหม่ เช่น การซื้อขายเครดิตเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (bio-credits) ที่ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงในคอลัมน์นี้

โดยในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเครื่องมือทางการเงินที่นำไปใช้ในการอนุรักษ์แรดที่มีการนำไปใช้แล้ว และ เครื่องมือทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง ที่เริ่มมีการศึกษาในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยเครื่องมือทั้งสองนี้ ถือเป็นตัวอย่างของนวัดกรรมทางการเงิน ที่เกิดขึ้นเพื่อมุ่งให้เกิดการระดมทุนเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า 

ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์แรดดำ (rhino bond) เปิดขายแก่ผู้ลงทุนในปี ค.ศ. 2022 โดยเป็นตราสารอายุ 5 ปี ที่มีมูลค่ารวม 150 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินที่ได้จากการเปิดขายตราสารจะถูกนำไปลงทุนในการอนุรักษ์แรดดำ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประชากรแรดดำ ที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง ในประเทศแอฟริกาใต้ 

นักลงทุนในตราสารจะไม่ได้รับดอกเบี้ยระหว่างงวด แต่จะได้รับผลตอบแทนหากประชากรแรดดำเพิ่มขึ้น โดยกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) จะเป็นผู้จ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน นับเป็นตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Bond) อันแรกของโลก 

สำหรับเครื่องมือทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์เสือนั้น จะเน้นการอนุรักษ์ระบบนิเวศที่เสือโคร่ง อยู่อาศัยผ่านการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในระบบนิเวศเสือโคร่ง (Tiger Landscapes Investment Fund) ทั้งนี้เนื่องจากเสือโคร่งอาศัยอยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่ และเลือกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอาหารอย่างเพียงพอ

ดังนั้น เสือโคร่งจึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้ การอนุรักษ์พื้นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง จึงเป็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ  

                             นวัตกรรมทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า

สำหรับการระดมเงินทุนเพื่อกองทุนเสือโคร่งนั้น ได้มีการเสนอว่าให้ใช้การเงินแบบผสมผสาน (blended finance) ซึ่งใช้เงินทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน และนำเงินที่ระดมทุนมาได้ใปใช้ในการสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ระบบนิเวศและกิจกรรมที่สร้างรายได้ เช่น วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การทำวนเกษตร (agroforestry) เป็นต้น โดยเลือกลงทุนในวิสาหกิจที่มีโมเดลทางธุรกิจที่ชัดเจน และมีแนวโน้มจะประสบผลสำเร็จ 

ทั้งนี้เงินจากภาครัฐอาจนำมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพของคนในพื้นที่ การพัฒนาโครงการที่มีแนวโน้มจะได้ผลตอบแทน อีกทั้งสามารถเอาไปลงทุนในการสร้างระบบติดตามและประเมินผลได้ และเงินจากภาคเอกชนอาจมาจากการขายคาร์บอนเครดิตและไบโอเครดิต มาจากงบ CSR ของบริษัท เป็นตราสารทุน (equity) หรือ เป็นตราสารหนี้ (bond) 

ทั้งนี้รูปแบบของเครื่องมือทางการเงิน อาจแตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศนั้น ๆ ดังนั้น ก่อนจะนำนวัตกรรมทางการเงินไปใช้ จึงต้องมีการศึกษาบริบทภายในประเทศเป็นอย่างดี 

จากความสำคัญของการปิดช่องว่างทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบกับความสนใจในการลงทุน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตเราอาจเห็นเครื่องมือทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าอื่น ๆ นอกจากแรดและเสือก็เป็นได้ ต้องจับตาดูกันต่อไปค่ะ