รายงานข่าวระบุว่า ศ.ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 จาก สมาคมบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย โดยตั้งแต่ ศ.ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งในทีมบริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี 2550 – 2554 ก็ได้ดำเนินการตามปณิธาน "ปัญญาของแผ่นดิน" ของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด
ทั้งนี้ เมื่อได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน ก็ไม่เคยหยุดพัฒนาปัญญาให้กับแผ่นดิน โดยได้ขยายขอบเขตการพัฒนาบทบาทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ไปสู่การเปลี่ยนโลก (World Changer) เพื่อการสร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ
อย่างไรก็ดี จากผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้านการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศที่ผ่านมา ส่งผลให้ได้รับการยกย่องจาก สมาคมบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย ให้ได้รับรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563
ศ.ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวว่า รางวัลที่ได้รับดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของชาวศิริราชทุกคน โดยเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นเบื้องหลังของความสำเร็จในครั้งนี้ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พิสูจน์ถึงศักยภาพในการเป็น "Academic Hub" หรือศูนย์กลางด้านวิชาการแพทย์ที่มีความโดดเด่น
และพร้อมมุ่งหน้าสู่ความท้าทายเสมอ ซึ่งผลงานที่หวังจะนำไปสู่การเปลี่ยนโลก คือ การพลิกโฉมโรงพยาบาลศิริราช ให้กลายเป็น "Smart Hospital" นำร่องบริหารจัดการสุขภาพด้วยระบบ 5G และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาในช่วงวิกฤตแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ตลอดจนประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ให้ความเชื่อมั่นถึงความพร้อมในการต่อสู้กับ Covid-19 และโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ "รถอัจฉริยะไร้คนขับ" ที่ทำหน้าที่ส่งยาภายในโรงพยาบาล และระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการบริการทางสุขภาพได้มากขึ้น
สำหรับผลงานที่กำลังเป็นที่สนใจจากนานาชาติ ซึ่งจะทำให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเปลี่ยนโลก คือ ความสำเร็จจากที่ได้ริเริ่มให้มีการใช้ รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รอดพ้นจากความพิการ จากการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
โดยเป็นนวัตกรรมรถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเคลื่อนที่ (Mobile CT) ที่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล โดยสามารถนำผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการฉุกเฉิน เข้ารับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และส่งผลออนไลน์ถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยอย่างทันท่วงทีได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันกำลังขยายบริการเพิ่มเป็นคันที่สอง และพัฒนาสู่ "Siriraj Model" รวมทั้งจะดำเนินการจดสิทธิบัตรต่อไป
ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากมีโรงพยาบาลศิริราชที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนมาอย่างยาวนานถึง 131 ปีแล้ว ยังมีโรงพยาบาลในสังกัดอีก 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ได้มีการริเริ่มนำระบบมาตรฐานสถานพยาบาลระดับสากล (JCI) จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาผสมผสานกับระบบมาตรฐานสถานพยาบาลของไทย พัฒนาเป็นระบบ "Advanced Hospital Accreditation"
ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.นำไปใช้ทั่วประเทศ และนอกจากนี้ ที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากสรพ.รวมทั้งได้มาตรฐานจากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน
“ล่าสุดโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับจาก BrandAge ให้เป็นสุดยอดองค์กร 2020 Thailand's Most Admired Company อันดับ 1 ในกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งพิจารณาจากความเชื่อถือขององค์กรในเรื่องการมีภาพลักษณ์ที่ดี การมีความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่น การขับเคลื่อนองค์กรผ่านนวัตกรรม ที่ทำให้ความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อผู้บริโภค”