ไม่ต้องหนี "ศบค." เปิดทางให้แรงงานต่างด้าว แจ้งขึ้นทะเบียนถึง 13 ก.พ.นี้

17 ม.ค. 2564 | 08:10 น.

ข่าวดีไม่ต้องหนี โฆษก ศบค. เผย ให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา-กัมพูชา-ลาว ที่ไม่มีใบอนุญาต ทั้งมีนายจ้าง-ไม่มีนายจ้าง ขึ้นทะเบียนทางออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ - 13 ก.พ. 64

17 มกราคม 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงตอนหนึ่งระหว่างการรายงานสถานกาณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยว่า กรณีของแรงงานต่างด้าวซึ่งประมาณการตัวเลขแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติหลัก คือ เมียนมา กัมพูชา และ ลาว ที่อยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งในส่วนนี้ได้รับการดูแลจากนายจ้าง 

 

ขณะที่แรงงานต่างด้าวไม่ถูกกฎหมายประมาณ 5 แสนคน ซึ่งมีทั้งที่นายจ้างและไม่มีนายจ้างจึงอาจจะเข้าไม่ถึงกระบวนการดูแลที่ดีพอ โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายซึ่งเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ขอให้เข้าสู่ระบบโดยไปขึ้นทะเบียนออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม-13 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ 

 

“ผมขอแจ้งผู้เป็นเจ้าของแรงงานเพื่อนำเขาเข้าสู่ระบบโดยด่วน โดยจะอนุญาตให้อยู่ต่อ ไม่ต้องหลบหนี แต่ขอร้องไม่ต้องเอาเข้ามาเพิ่ม อย่าทำเด็ดขาด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุด กลไกกระบวนการค้ามนุษย์ของอย่าทำเด็ดขาด พวกสีเทาสีดำทั้งหลายล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งโรค สูญเสียมากมาย ท่านได้ประโยชน์หัวละหลักพันหลักหมื่น แต่ประเทศชาติเสียหายเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน กระทบกับคนอีก 60 กว่าล้านคน” โฆษก ศบค. กล่าว

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทยวันนี้ พบ ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 374 ราย โดยติดเชื้อในประเทศ 364 ราย จากต่างประเทศ 10 ราย รวมพบผู้ยืนยันสะสม 12,054 ราย ติดเชื้อในประเทศ 9,777 ราย จากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 3,707 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2,277 ราย และสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 1,681 ราย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดลงทะเบียนออนไลน์ ผ่อนผันต่างด้าว3 สัญชาติ หวังชะลอนำเข้าสกัดโควิด

ประกาศแล้ว กฎกระทรวงไฟเขียว"แรงงานต่างด้าว"อยู่ต่อ

ข่าวดี 500 แรงงานต่างด้าวรักษาโควิดหายแล้ว

นายกฯ สั่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายชั่วคราวแก้ปัญหาถูกทิ้ง-หลบหนี

ผู้ว่า “สมุทรสาคร” คุมเข้มโควิด ห้ามเคลื่อนย้าย “แรงงานต่างด้าว” โทษจำคุก