นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์สถิติเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษของประชาชนในช่วงสถานการณ์ โควิด – 19 (ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 22 พฤษภาคม 2563 ) พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยการเพิ่มขึ้นของจำนวนเรื่องร้องเรียนมาจากเหตุผลหลักๆ คือ ประชาชนต้องกักตัวอยู่ที่บ้านทำให้มีโอกาสได้รับผลกระทบปัญหามลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ใกล้เคียงมากขึ้น
ประชาชนมีความตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ประกอบกับมีความสะดวกในการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางโซเชียลด้วย ดังนั้น ในช่วงสถานการณ์ โควิด – 19 ในครั้งนี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็มีนโยบายให้ทำงานที่บ้านเช่นกัน ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้านมากขึ้น มีโอกาสได้รับผลกระทบปัญหามลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ใกล้เคียงมากขึ้น ปัญหาเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษอาจเพิ่มขึ้นเหมือนครั้งที่ผ่านมา ซึ่ง คพ. ได้เตรียมพร้อมรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอยู่แล้ว
นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับสถิติเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ต.ค. 63 – มี.ค. 64) คพ. ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ จำนวน 452 เรื่อง พื้นที่ที่มีปัญหาได้รับการแจ้งเรื่องร้องเรียนสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 122 เรื่อง รองลงมา คือ จังหวัดสมุทรปราการ 39 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 24 เรื่อง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 23 เรื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ต.ค. 62 – มี.ค. 63) คพ. ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ จำนวน 367 เรื่อง โดยปัญหากลิ่นเหม็นยังครองอันดับมีการร้องเรียนมากที่สุด ร้อยละ 36 รองลงมา คือ ฝุ่นละออง/เขม่าควัน ร้อยละ 32 และเสียงดัง/เสียงรบกวน ร้อยละ 15 และเมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของปัญหามลพิษที่ได้รับการแจ้งเรื่องร้องเรียน พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 39 รองลงมา คือ สถานประกอบการ ร้อยละ 31
สำหรับสถิติช่องทางในการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษที่มีการใช้บริการสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ โทรศัพท์ ร้อยละ 43 เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ ร้อยละ 26 และแฟนเพจกรมควบคุมมลพิษ ร้อยละ 17 ตามลำดับ ที่ผ่านมา คพ. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการติดตามตรวจสอบแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ โดยประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านช่องทาง สายด่วนร้องทุกข์ โทร 1650 หรือโทรศัพท์ 02-298-2222 ศูนย์บริการประชาชน โทรศัพท์ 02-298-2072 และทางเว็บไซต์ www.pcd.go.th และแฟนเพจกรมควบคุมมลพิษ นายอรรถพล กล่าว