วันนี้ 22 มิ.ย. นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน เตรียมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะเวลา 10 ปี (ปี 2564-74) เพื่อเตรียมรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคเกษตรกรรม ที่อาจจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมีเพิ่มขึ้น จากคาดการณ์แนวโน้มความต้องการน้ำในเขตอีอีซี ในปี 2574 คาดจะมีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 358 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) เป็น 1,412 ล้าน ลบ.ม.จากปี 2564 มีความต้องการใช้น้ำปริมาณ 1,054 ล้านลบ.ม.
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้พิจารณาแนวทางในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนรองรับการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและป้องกันการขาดแคลนน้ำทั้งในการอุปโภคบริโภค ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และ การรักษา ระบบนิเวศ โดยมีแนวทางการดำเนินการดังนี้
ในลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ดำเนินการ 2 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ดำเนินการเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ปีละ 140 ล้าน ลบ.ม. มีแผนงานก่อสร้างในปี 2567-2670 และ โครงการผันน้ำคลองวังโตนด-อ่างฯประแสร์ เส้นที่ 2 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้อีกปีละ 70 ล้าน ลบ.ม.
ในพื้นที่ จ.ระยอง ดำเนินการ 2 โครงการ คือ โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างฯประแสร์ เส้นที่ 2 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้อีกปีละ 50 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินงานปี 2566-2567 ภายใต้งบประมาณ 810 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบแล้วเสร็จ พร้อมดำเนินการ ส่วนพื้นที่จ.ชลบุรี ได้ดำเนินโครงการผันน้ำจากอ่างประแสร์-หนองค้อ-บางพระ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำบางพระ ปีละ 80 ล้าน ลบ.ม.รองรับความต้องการน้ำในการอุปโภค-บริโภค การอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในอนาคต ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปี 2566-69) ภายใต้งบประมาณ 9,500 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบและทบทวนแบบเดิมแล้วเสร็จ และดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งขออนุญาตใช้พื้นที่จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว
นายประพิศ ยังกล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนาโครงการในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคตกรมชลประทานมองเห็นศักยภาพของเขื่อนภูมิพล ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 5,626 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณเก็บกักที่ 9,662 ล้าน ลบ.ม. จึงทำให้มีช่องว่างเหลือเก็บกักน้ำได้อีกประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม.กรมชลประทานจึงมองว่าการเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล จะสามารถช่วยพื้นที่อีอีซี ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้พิจารณาแนวทางในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนต้นทุนเขื่อนภูมิพล จ.แม่ฮ่องสอน โดยดำเนินการภายใต้งบประมาณโครงการ 71,110 ล้านบาท ซึ่งกรมชลประทานมีแผนการดำเนินโครงการ 9 ปี (2565-2573) ส่วนความคืบหน้าโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานอีไอเอ ซึ่งจะพิจารณารายงานอีไอเอ ครั้งที่ 4 ในวันที่ 2 ก.ค.2564 ขณะที่งานสำรวจ-ออกแบบ แล้วเสร็จ ในปี 2562 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566
นอกจากนี้จะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำยวม ซึ่งมีความจุ 68.40 ล้าน ลบ.ม. (มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยที่จุดบรรจบแม่น้ำเมย 2,858.10 ล้าน ลบ.ม./ปี) และก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา พร้อมอุโมงค์ส่งน้ำ จำนวน 2 ช่อง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.10 ม. และ 8.30 ม. โดยจะสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำน้ำยวมผ่านอุโมงค์ไปลงห้วยแม่งูด ที่อัตรา 182.52 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะมีปริมาณน้ำผันสูงสุดรายปี 1,795 ล้าน ลบ.ม./ปี ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดทำการมีส่วนร่วมกับประชาชน รวมทั้งชี้แจงประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการในเบื้องต้นแล้วคาดว่าจะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ภายในปี 2564 จากนั้นในปี 2565 จะดำเนินการเตรียมความพร้อมในการจัดหาที่ดิน และดำเนินการมีส่วนรวมกับประชาชนในพื้นที่ ต่อไป