บิ๊ก กยท.เตรียมเจรจา 2 สัญญาซื้อขายยางจีนรอบใหม่ “ชิโนเคม-ไห่หนาน” 6 แสนตัน สบจังหวะต่างตอบแทนรถไฟไทย-จีน ช่วยดันราคาในประเทศ ขณะผู้ค้า-เกษตรกรยกนิ้ว “บียู” บริษัทลูก กยท. แจ้งเกิด ช้อนซื้อยางราคาชี้นำตลาด ขณะลดส่งออกยาง 3 ชาติ ยังเคว้ง
อินโดฯ-มาเลย์ ผวาไทยเบี้ยว
วันที่ 21 มิ.ย.60--นสพ.ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ป ฉบับวันที่22-24มิ.ย.รายงานว่า ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในเร็วๆนี้ ทาง กยท.จะมีการเจรจาซื้อขายใหม่กับ 2 คู่สัญญาเดิมจากจีน คือ บริษัท ชิโนเคม อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเครือชิโนเคม หลังจากที่ กยท.ได้ส่งมอบล็อตแรกไปเมื่อเดือนเมษายน 2559 จำนวน 1.66 หมื่นตัน จากที่ต้องส่งมอบยางทั้งหมด 12 งวด รวม 2 แสนตัน (การซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางระหว่าง กยท. กับเครือชิโนเคมเป็นบันทึกความเข้าใจ (MOU)ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนว่าด้วยความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตรลงนามเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 วัตถุประสงค์เพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 รัฐบาลและเป็นการเริ่มต้นโครงการความร่วมมือสร้างทางรถไฟไทย-จีน ในปี 2558) เช่นเดียวกับ บริษัท ไห่หนาน รับเบอร์ กรุ๊ป (สิงคโปร์) ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (สัญญาเดิม ซื้อขายยางเก่าในสต๊อก 2 แสนตัน พ่วงยางใหม่ 2 แสนตัน สาเหตุที่ยกเลิกเนื่องจากบริษัทรับมอบไม่ทันตามกำหนดสัญญา)
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
“จะมีการเจรจารอบใหม่ โดยมองว่ายิ่งเพิ่มคู่ค้า จะทำให้เกิดการแข่งขันแย่งซื้อ และจะช่วยดันราคายางในประเทศ อย่างไรก็ดีทิศทางราคายางในครึ่งปีหลังคาดว่าจะดีขึ้นเนื่อง
จากรัฐบาลได้พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมถึงมีความร่วมมือของผู้ผลิตยาง 3 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย) ในนามบริษัท ร่วมทุนยางพารา จำกัด ที่ได้ไปประชุมวันที่ 17-18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ เมืองมันดุ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารกลยุทธ์การดำเนินงานด้านการตลาด บรรยากาศเป็นไปด้วยดี และในวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2560 จะเดินทางไปมาเลเซีย เพื่อหารือและหามาตรการช่วยเหลือคาดว่าจะเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น”
สอดคล้องกับนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ กยท.ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า การเจรจาซื้อยางใหม่กับชิโนเคม ไปผูกกับโครงการรถไฟไทย-จีน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติใช้ ม.44 ในการเดินหน้าโครงการไปเมื่อเร็วๆ นี้ เชื่อว่าจะส่งผลดี อาจจะต้องกลับมาส่งมอบยางกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
นายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา นายกสมาคมนํ้ายางข้นไทย เผย ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านทางบียู หน่วยธุรกิจในเครือกยท. ได้เข้าไปซื้อยางพาราในราคาชี้นำตลาด 3 บาท/กก. ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (อ่านบทสัมภาษณ์ประกอบหน้า 9) หลังมองว่าราคายางมีแนวโน้มที่จะตกตํ่าลง ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เป็นผลดี ไม่เช่นนั้นราคายางจะตกตํ่าลงมาก ที่ผ่านมามองว่าผ่านจุดตํ่าสุดมาแล้ว
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.)
สอดคล้องกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) ที่กล่าวชมว่า การดำเนินการของ กยท.เดินมาถูกทางแล้วที่เข้ามาแทรกแซงการซื้อยางในตลาดกลาง ส่งผลทำให้ราคายางไม่ตกตํ่าไปมากกว่านี้ แม้ว่าซื้อมาแล้วจะขายขาดทุนบ้าง ชาวสวนยางทั้งประเทศยอมรับได้ ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ทางกระทรวงเกษตรฯ ไปดำเนินการขับเคลื่อน 12 มาตรการโดยจะให้เวลาทำงาน 30 วันเพื่อให้เห็นผล (ดูกราฟิกประกอบ) เนื่องจากเห็นว่า 4 มาตรการแก้ปัญหาราคายางที่ครม.อนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแก้ปัญหาไม่ได้มาก แหล่งข่าวจากวงการค้า เผยผลการเจรจาเพื่อลดปริมาณการส่งออกยางพาราของ 3 ชาติ(ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย) เมื่อวันที่ 17-18 มิถุนายน 2560 ที่อินโดนีเซีย มีผู้แทน กยท.ไปเข้าร่วมประชุมยังไม่สรุปมาตรการที่ชัดเจน เนื่องจากฝ่ายผู้แทนอินโดนีเซีย ยังเกรงว่าไทยจะผิดสัญญาอีก เพราะในปีที่ผ่านมาความตกลงลดส่งออกยาง 6.15 แสนตัน (1 มี.ค.-31 ส.ค.59) ไทยทำไม่ได้ตามสัญญา ดังนั้นต้องรอลุ้นว่าเจรจารอบ 2 ที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศมาเลเซียในเดือนกรกฎาคมจะสำเร็จหรือไม่