หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา และอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือ ที่ อส 0006(นย)/ว 137 แจ้งคำสั่ง มาตรการและแนวปฏิบัติให้แก่บุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไปแล้วนั้น
นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้กำชับให้สำนักงานอัยการทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ โดยให้รายงานภาพรวมของการดำเนินคดีผ่านระบบสารบบคดีอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมแจ้งให้งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรวบรวมและประมวลผลภาพรวมทั้งประเทศในการดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดดังกล่าว สิ้นสุด ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่ศาลแขวงทั่วประเทศเปิดทำการในช่วงวันหยุด
วันนี้ (7 เมษายน 2563) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายรัชต์เทพ ดีประหลาด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการสำนักงานอัยการสูงสุด และนางณฐนน แก้วกระจ่าง ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ดำเนินการรวบรวม วิเคราะห์แล้วปรากฏผล ดังนี้
1.จำนวนคดี และ จำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กระทำความผิดและถูกดำเนินคดี สำหรับภาพรวมทั้งประเทศมีการฝ่าฝืนทั้งสิ้น จำนวน 438 คดี จำนวนจำเลยที่ถูกดำเนินคดี 623 ราย
2.ทุกคดีพนักงานอัยการได้มีคำขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก ซึ่งศาลได้ใช้ดุลยพินิจ ลงโทษจำเลยตามคำขอของพนักงานอัยการ เช่น คดีที่พนักงานอัยการฟ้องต่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา ลงโทษผู้จำคุก 2 – 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ (ข้อหามั่วสุม) และศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานี จำคุก 15 วัน เปลี่ยนโทษเป็นกักขังแทน 15 วัน เป็นต้น
3.ประเภทคดีที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด ได้แก่ การออกนอกเคหสถานโดยช่วงอายุที่กระทำความผิดมากที่สุดเป็นช่วงอายุระหว่าง 20-35 ปี รองลงมาคือช่วงอายุระหว่าง 35-55 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขให้ระมัดระวังในการแพร่เชื้อ
ทั้งนี้ จังหวัดที่มีสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สูง เช่น กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ ยังเป็นจังหวัดที่มีจำนวนสถิติคดีและจำนวนผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก. มีจำนวนสูงด้วยเช่นกัน ซึ่งอัยการสูงสุดยังได้กำชับใช้พนักงานอัยการทั่วประเทศได้บังคับใช้กฎหมายอย่างรวดเร็วและเฉียบขาดต่อไป