รายงานข่าวจาก ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานผู้อำนวยการศูนย์ เป็นประธานการการประชุม ในระดับหัวหน้าศูนย์ทั้ง 10 ศูนย์
โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกทม.นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกมหาวิทยาลัยมหิดลและอดีตรมว.สาธารณสุข นพ.อุดม คชินทร อดีตรมช.ศึกษาธิการ เป็นต้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี รับฟังรายงานสถานการณ์และสรุปความคืบหน้าการทำงานแต่ละด้าน ขณะที่นายกฯได้สั่งให้เตรียมข้อมูลต่างๆให้ครบถ้วนรอบด้าน ก่อนพิจารณาผ่อนปรนมาตรการต่างๆ รวมถึงให้ศึกษาจากต่างประเทศที่มีการผ่อนปรนแล้วมีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะถึงแม้ขณะนี้ประเทศไทยจะมีตัวเลขในระดับที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องนำข้อมูลต่างๆมาดูและเตรียมให้พร้อมก่อนจะพิจารณา คาดว่าจะพิจารณาโดยเร็วที่สุด
การผ่อนคลายมาตรการนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางและข้อพิจารณา โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข หากสถานการณ์ดีขึ้นตามหลักเกณฑ์จะมีการผ่อนปรนในส่วนใดได้บ้าง โดยในภาพรวมให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก ผ่านการวิเคราะห์ ศึกษาทางสถิติ พิจารณาว่ากิจกรรมประเภทใดบ้างที่ผ่อนปรนได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพบางประเภทได้ ให้ประชาชนมีรายได้ โดยอาจจะต้องกำหนดข้อจำกัดเพิ่มเติม อาทิ การเปิดตลาด ประเภทใดที่เปิดได้บ้าง ดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้การดูแลของหน่วยงานตนเองหากมีมาตรการผ่อนคลายจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเช่นไร ในการปลดล็อกจะต้องมีมาตรการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ที่ยังกำหนดอยู่ รวมทั้งพิจารณามาตรการตรวจสอบ การคัดกรอง ให้เหมาะสม รวมทั้งการดำเนินการทุกอย่างให้ยังคงเป็นไปตามหลักการ Social Distancing และประชาชนคงเห็นความสำคัญในการดำเนินมาตรการที่ชัดเจน จะได้เกิดความไว้วางใจ ร่วมมือกับรัฐบาล มาตรการ Work From Home ที่ยังต้องใช้จะปรับอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“ในที่ประชุม นายกฯแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยภาพรวม แต่เนื่องจากบางพื้นที่ยังมีจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนที่มากอยู่ จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข ไปประเมินและหารือกับผู้ประกอบการและร้านค้าที่ได้รับผลกระทบในแต่ละพื้นที่จังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ เพื่อพิจารณาผ่อนปรนมาตรการให้กับบางอาชีพ โดยย้ำว่าให้เป็นการผ่อนคลายทีละนิด อาทิ ตลาดนัด หรือร้านค้าบางประเภทที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีความจำเป็น แต่ก็จะต้องมีมาตรการเข้มในการรักษาความสะอาด การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และการใช้เจลล้างมือก่อนเข้าพื้นที่ แต่อย่างกรณีของร้านเหล้า สถานบันเทิงต่างๆนั้น ก็ยังคงใช้มาตรการเข้มอยู่ต่อไป และยังคงมาตรการเคอร์ฟิวต่อเนื่อง รวมทั้ง จะมีการขยายเวลา ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.)ต่อไปก่อนซึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 1เดือน”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจและทหาร พิจารณาผ่อนผันยานพาหนะบางประเภทที่มีความจำเป็นในการขนส่งเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำในเรื่องการทำงานที่บ้าน หรือ work from home(wfh) ว่ายังควรต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องซึ่งจะต้องขอร้องหน่วยงานราชการและภาคเอกชนต่อไป
ส่วนการขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ ครม.พิจารณานั้น เป็นหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช.ระบุว่า สมช.จะประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในช่วงกลางสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้นำเสนอผลการดำเนินการของแต่ละด้านที่สำคัญประกอบด้วย ด้านมาตรการสาธารณสุข ได้นำเสนอภาพรวมการระบาดของโควิด -19 ทั่วโลกและประเทศไทย ซึ่งของไทยกำหนดกลุ่มตรวจเฉพาะให้มากขึ้น โดยใช้พัฒนาการตรวจ เช่น ตรวจสายน้ำเกลือ และจากการประเมินสถานการณ์ การเปรียบเทียบกราฟ เห็นว่าแนวโน้มลดลง ด้านมาตรการลดการแพร่เชื้อภายในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขใช้มาตรการค้นหา และลดจำนวนคนแพร่เชื้อในชุมชน ร่วมกับมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล ลดความหนาแน่น จัดระบบแยกผู้ป่วย และป้องกันบุคคลากรแพทย์ แต่ต้องควบคู่กับมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing) อย่างเข้มข้น
ในส่วนของปริมาณหน้ากาก N95 และชุด PPE ยังนับว่าเพียงพอสำหรับการใช้ในปัจจุบัน และรองรับได้ในอนาคต ส่วนเตียงผู้ป่วยเมื่อพิจารณาจากสถิติ ที่คาดว่าจำนวนผู้ใช้จะลดลง จึงยังคงมีเพียงพอ สำหรับความจำเป็นในการใช้งาน
ในส่วนของความก้าวหน้าด้านการวิจัยนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานผลความก้าวหน้าว่า 1. การใช้ฟ้าทะลายโจรสามารถต้านการเพิ่มไวรัสในเซลล์ แนะนำให้ใช้เพื่อการรักษา 2. การพัฒนาวัคซีนทั้งในประเทศ และความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น จีน คาดว่าจะพัฒนาได้ภายในปีครึ่ง 3. ตอนนี้เริ่มมีการทดลองวิจัยการนำพลาสม่าไปใช้รักษาผู้ป่วย 4. การศึกษา Exit Strategy มีการพิจารณาจากตัวอย่างของต่างประเทศ ในส่วนภายในประเทศ นักวิชาการร่วมกันศึกษา พัฒนาแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาเพื่อการตัดสินใจทางนโยบายต่อไป 5. ศึกษา ความชุก และอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ และ6. ศึกษาเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวีย
ด้านการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานในส่วนของมาตรการเดินทางเข้า-ออกไทยของคนไทยและคนต่างชาติ กระทรวงการต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรอง การเดินทางทางอากาศ และขอความร่วมมือให้อำนวยความสะดวกให้คนไทยตกค้าง ในต่างประเทศเดินทางกลับไทยโดยเที่ยวบิน Cargo และเที่ยวบินต่างชาติที่มารับคนชาติของตนในไทย โดยระหว่างวันที่ 4 เมษายน –15 เมษายน 2563 รวม 14 เที่ยวบิน และระหว่างวันที่ 16 เมษายน –19 เมษายน 2563 รวม 8 เที่ยวบิน รวมทั้งสิ้น 22 เที่ยวบิน จำนวนคนไทย 1,326 คน ทั้งนี้ การผ่านจุดผ่านแดนทางบก 18 เมษายน 2563 กลับสู่ประเทศไทยแล้ว 685 คน จากด่านสุไหงโกลก สะเดา ในส่วนแผนรองรับแรงงานต่างด้าวได้กำหนดจำนวนที่จะเข้ามาได้ในแต่ละวันที่รัฐบาลสามารถดูแลได้ และทุกกลุ่มต้องทำตามเงื่อนไขในการออกใบรับรองเข้าราชอาณาจักรของไทยด้วย
กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน ผ่านมาตรการช่วยเหลือและป้องกัน ด้านการคัดกรอง มาตรการการเดินทางเข้าออกทางบกผ่านจุดผ่านแดนถาวรทั้ง 40 จุด มีการคัดกรองทุกจุด และความพร้อมในมาตรการ Local Quarantine นั้น รองรับได้ 20,941 คน ทั้งนี้ มหาดไทยได้ปรับเวลาร้านสะดวกซื้อให้เป็นไปตามมาตรการเคอร์ฟิว คือปิดร้านในเวลา 22.00-04.00 น. รวมทั้งได้มีการแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตามข้อกำหนดเพื่อจัดระเบียบการบริจาคของแก่ประชาชนให้เป็นไปตามหลักการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้พิจารณาด้านการขนส่งสินค้าที่มีข้อกำหนดและการอนุญาตไว้แล้ว ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพื่อให้ความช่วยเหลือ พิจารณาอนุญาตเป็นรายๆไป โดยเฉพาะแก่ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อน ที่มีความจำเป็นในการส่งสินค้าเพื่อเลี้ยงชีพ
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหม รายงานถึงการดำเนินการ State Quarantine.ว่ามีเอกชนประสงค์เข้าร่วม ซึ่งหน่วยงานพิจารณาร่วมกันเพื่อความปลอดภัยและเหมาะสม คือ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานสรุปผลการกระจายหน้ากากอนามัย ตั้งแต่ 30 มี.ค. – 19 เม.ย. 2563 จำนวน 37,497,550 ชิ้น
ในส่วนของการเดินทางเข้าประเทศ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ ชี้แจงให้คนไทยให้ทราบถึงขั้นตอน การดำเนินการเมื่อการเดินทางกลับต้องเข้ากระบวนการ State Quarantine และ Local Quarantine ของไทย และขอให้กระชับกระบวนการรับคนที่สนามบินให้รวดเร็วขึ้น แต่ต้องมีความปลอดภัย ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงได้รายงานว่าแก้ไขแล้ว และจะใช้เวลาเพียง 40 นาที รวมทั้ง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด แก้ปัญหาการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยทางบกเพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน กำหนดในการเดินทางเข้าทางบกผ่านแดนทางภาคใต้ วันละ 350 คน โดยให้ช่วยกันบริหารจัดการให้ดี ระมัดระวังด้านความปลอดภัย หากทำให้ได้มากก็จะผ่อนคลายความตึงเครียดของคนไทยที่อยากเดินทางกลับบ้าน
ส่วนการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินคู่ขนานกันไป ทั้งการแก้ปัญหาในแต่ละภาคส่วน การร่วมกันทำ Big Data เพื่อทำให้ได้ข้อมูลเดียวกันในทุกส่วนงานมาพิจารณาเพื่อดูแลเรื่องการเยียวยา ฟื้นฟู ทั้งปัจจุบัน และอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรี ขอบคุณการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน นายกรัฐมนตรีได้ตรวจเยี่ยม เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ พบว่าทุกพื้นที่มีความเรียบร้อยดี ขอขอบคุณฝ่ายมั่นคงที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนอย่างดี ทั้ง ทหาร ตำรวจ พลเรือน กทม. สาธารณสุข ขอบคุณทุกคน ที่เสียสละเวลามาปฏิบัติหน้าที่