ศบค. เตรียมต่ออายุ “พรก.ฉุกเฉิน” คุมโควิด-19

26 เม.ย. 2563 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2563 | 12:23 น.

"บิ๊กตู่" นัดประชุมศบค.เช้านี้ เตรียมพิจารณาต่ออายุ “พรก.ฉุกเฉิน” คุมระบาดโควิด-19 เพื่อนำเสนอครม.อนุมัติในวันพรุ่งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(27เม.ย.63) เวลา 09.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)  หรือ ศบค. ณ  ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

โดยวาระสำคัญคือการพิจารณาต่อหรือไม่ต่ออายุ การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ซึ่งพรก.ฉุกเฉินบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จะครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 63 ซึ่งศบค.ต้องพิจารณา แล้วให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ในฐานะฝ่ายเลขาของศบค. นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อนที่จะครบกำหนด ซึ่งแนวโน้มคาดว่าศบค.จะเสนอต่อพรก.ฉุกเฉินออกไปอีกอนย่างน้อย 1 เดือน 

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อประเมินสถานการณ์ในการประกาศใช้พระราชกำหนด (พรก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  และมาตรการข้อกำหนดต่างๆ ว่า วันจันทร์ที่ 27 เม.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผู้อำนวยการศบค. จะเรียกประชุมเพื่อจะสรุปว่ามีความจำเป็นต้องประกาศต่อ พรก.ฉุกเฉินออกไปหรือไม่ ซึ่งหากที่ประชุมเห็นสมควรว่าต่ออายุออกไปจะนำเข้าที่ประชุมครม. อีกครั้งในวันอังคาร ที่ 28 เม.ย.

"อย่างไรก็ตามในส่วนความเห็นของหน่วยงานด้านความมั่นคงเองนั้น มองว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อยเท่าที่ควรจึงน่าจะต่อขยายออกไปอีก แต่จะเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประเมิน และตัดสินใจ ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับสภาพัฒน์ฯ (สศช.) ในส่วนความพร้อมเพื่อเตรียมผ่อนปรนมาตรการต่อไป"

พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณา "ผ่อนปรนมาตรการ" และข้อกำหนด มาตรการต่างๆนั้นในการประชุม ศบค.วันจันทร์ที่ 27 เม.ย. จะมีความชัดเจนอีกครั้งวันนี้เป็นเพียงการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณามาตรการต่างๆว่ามีกิจกรรมใดบ้างที่ควรจะมีการผ่อนปรน โดยบ่ายวันเดียวกันนั้นจะมีการเชิญภาคธุรกิจได้มาร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็นเพื่อลงไปในรายละเอียดว่าถ้าหากมีการผ่อนปรนแล้วจะมีวิธีการอย่างไรซึ่งเราจะต้องทำให้ระมัดระวังและรอบคอบมากที่สุด ส่วนจะมีการผ่อนปรนกิจกรรมใดบ้างนั้นคงต้องดูอีกครั้ง ซึ่งก็ต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน

ด้าน นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมาตอนหนึ่งระบุว่า สำหรับกรณีแนวโน้มการคลายล็อกของแต่ละจังหวัดที่เริ่มมีการประกาศให้สถานประกอบการ หรือสถานที่บางประเภทกลับมาเปิดให้บริการได้ โดยแต่ละจังหวัดสามารถประกาศได้เอง หรือต้องประสานกับทาง ศบค. ก่อน หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฯ ศบค. จะเป็นผู้ที่ตัดสินใจในระดับสูงสุด และนำเข้าที่ประชุมครม.ก่อนจึงมีการประกาศออกมาเป็นกฎใหญ่ของทั้งประเทศ  
ส่วนเรื่องการผ่อนคลายของแต่ละจังหวัด จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น ซึ่งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน มีภาคเอกชนเป็นที่ปรึกษา กำลังทำงานกันอยู่ โดยขณะนี้การควบคุมโรคเป็นรูปแบบควบคุมพฤติกรรมของคน ทำให้ระบบของงานต่าง ๆ ถูกกระทบจากการควบคุมคน เกิดผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจตามมา 
ฉะนั้นถ้าจะต้องผ่อนปรนหรือคลายมาตรการต่าง ๆ จะต้องมีการประชุมปรึกษากัน โดยคณะที่ปรึกษาฯ จะนำเสนอให้ ศบค. ตัดสินใจ และเสนอต่อครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติ กิจการกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำได้หรือไม่ได้ก็จะค่อย ๆ ทยอยแจ้งออกมา สิ่งต่าง ๆ จะถูกคิดตรองอย่างรอบด้าน เมื่อออกมาแล้วคนส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วย 

มาตรการทั้งหลายต้องไม่กระทบต่อการแพร่ระบาดของโรค เพราะจะให้เกิดการแพร่รอบ 2 หรือรอบ 3 ตามมาอีกไม่ได้  เนื่องจากจะเกิดการสูญเสียทั้งเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย เสียชีวิต รวมถึงงบประมาณ แม้ตอนนี้การเสียเงินเรื่องของการรักษาลดลง แต่ก็ยังมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จึงต้องมีการตัดสินใจร่วมกันอย่างรอบคอบ

ล่าสุดที่ประชุมศบค.เห็นชอบให้ต่อการประกาศใช้ "พรก.ฉุกเฉิน" คุมการระบาดของโควิด-19 ออกไปอีก1เดือน ตามที่ความมั่นคงและกระทวงสาธารณสุขเสนอ