นายกฯสั่ง ขรก.เหลื่อมเวลาเข้างาน ทำงานที่บ้านต่อ

12 พ.ค. 2563 | 09:53 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2563 | 11:29 น.

“วิษณุ”เผย“บิ๊กตู่”สั่งหน่วยงานรัฐขยายเหลื่อมเวลาเข้างาน-ขรก.ทำงานที่บ้านต่อ หลังพบได้ผลงานดีกว่าอยู่ออฟฟิศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

วันที่ 12 พ.ค.63  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรวบรวมข้อมูลการทำงานเหลื่อมเวลาในส่วนของภาครัฐ เพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ได้รายงานที่ประชุมว่าหน่วยงานราชการได้ดำเนินการเรื่องเหลื่อมเวลาการทำงานเป็นส่วนใหญ่ ในเวลา 08.00 น. และ 07.00 น. 

 

จากนั้น นายกรัฐมนตรีสั่งการว่าให้เหลื่อมเวลามากกว่านี้ เพื่อลดความแออัดในการเดินทาง ส่วนจะเป็นกี่ชั่วโมงนั้น ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาเอง  

 

ขณะที่มาตรการการให้ข้าราชการทำงานที่บ้านนั้น หน่วยงานราชการส่วนใหญ่ปฏิบัติกันแล้วในส่วนงานที่เป็นเอกสาร  แต่งานที่เป็นการให้บริการประชาชนยังไม่สามารถทำที่บ้านได้  ด้านหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ดำเนินการเรื่องเหลื่อมเวลากัน 7 เวลา ตั้งแต่ 07.00 -10.00 น. โดยเหลื่อมกันช่วงละครึ่งชั่วโมง คนที่เข้างาน 10.00 น. จะเลิกงานในเวลา 18.00 น. 


อีกทั้งมีการรายงานด้วยว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ให้ทำงานที่บ้านเกิน 80 เปอร์เซ็นนั้น มีจำนวนไม่น้อย อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย

 

นายวิษณุ เครืองาม

 

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า  ด้านนายกฯให้ดำเนินการมาตรการดังกล่าวต่อไป โดยให้พิจารณาปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย อาทิ ประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) รายงานผลว่าการให้ข้าราชการทำงานที่บ้านได้ผลดีและงานออกมาเร็ว แต่การนั่งทำงานอยู่ในสำนักงานกลับมีสมาธิไม่ดี แต่ถ้าทำงานที่เขาทำงานกันเสร็จเร็ว อีกทั้งให้ผู้บังคับบัญชากวดขัน อย่าปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีการลักไก่หรือหายไปเลย แต่ต้องให้ติดต่อได้เสมอ

            
เมื่อถามว่าถ้าแนวทางการทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพกว่าการทำในสำนักงาน จะพิจารณาให้ปฏิบัติต่อไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ให้ใช้แนวทางนี้ต่อไป เพราะการทำงานที่บ้าน เราบอกกันมาเป็นปีแล้ว แต่ไม่มีแรงจูงใจ แต่ตอนนี้มีปัจจัยแล้ว เพราะทำให้บางคนมีเวลาส่งลูกไปโรงเรียน หรือไม่ต้องแออัดบนรถไฟฟ้า  ส่วนมาตรการเว้นระยะห่าง เป็นตัวช่วยให้กดดันให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว  ขณะที่ภาคเอกชนที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการแล้ว เราจะเริ่มรณรงค์ผ่านหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลังที่จะตั้งเงื่อนไขว่าถ้ากิจการใดต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ควรรับเงื่อนไขนี้ด้วย


 

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า  ส่วนการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการบางส่วนในการป้องกันโรคโควิด-19 จะขยายไปกิจกรรมใดบ้างนั้น มีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่จะพิจารณาเรื่องนี้ โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นประธาน และมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม แม้ตนไม่ได้เป็นกรรมการในชุดนี้ แต่เมื่อจะผ่อนปรนอะไร เขาจะส่งมาให้ตนเขียนคำสั่ง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการส่งอะไรมาให้ ส่วนรายละเอียดการผ่อนปรนเพิ่มเติมจะเป็นอย่างไรนั้น ตนยังไม่ทราบ