วันที่ 26 พ.ค. 63 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศจำนวน 4 ฉบับ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ในการคุมสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทุกฉบับลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 2) ความว่า
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คราวที่ 1 ออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นั้น
รัฐบาลได้ดำเนินบรรดามาตรการต่าง ๆ อันจำเป็นเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด – 19 ทั้งการห้ามออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด การจำกัดการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง และการห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค รวมทั้งการแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 โดยหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในแต่ละฝ่ายได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจที่ได้รับมอบหมายโดยเข้มงวด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด โดยปรากฏข้อมูลเป็นที่ประจักษ์ว่าหลายประเทศยังคงมีการระบาดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง และเมื่อได้ผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการควบคุมแล้วกลับพบการระบาดของโรคระลอกใหม่ในระดับรุนแรง ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวของรัฐบาลเป็นไปโดยมีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยในระหว่างนั้นรัฐบาลจะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้การป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและกำหนดหรือผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนไปพร้อมกัน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมพ.ศ. 2563 จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน
ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ ระบุว่า
ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ ๒) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นั้น
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือ ประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้บรรดาประกาศที่คณะรัฐมนตรี กำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563
และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ประกาศ เรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ ระบุว่า
ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือ ประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
นายกรัฐมนตรีจึงให้ บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ตามประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่า นายกรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ระบุว่า
ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และมีประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นั้น
เพื่อให้การสั่งการและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 เป็นไปโดยมีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คณะรัฐมนตรี จึงมีมติให้ยกเลิกการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการ ตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว
ตาม 1. ถึง 40. แห่งประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจ หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้ส่วนราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายข้างต้นยังคงใช้อำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไป ตามหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่จะมีประกาศหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ที่มา ราชกิจจานุเบกษา
ประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 2)
ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ
ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2)