ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการพิจารณา "พรก.เงินกู้" หรือ พระราชกำหนด ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่1 พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563
ฉบับที่2พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ.2563
ฉบับที่3 พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 และ ฉบับที่ 4พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563
โดยตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอพระราชกำหนด 3 ฉบับแรก ต่อที่ประชุมสภาฯทีละฉบับว่า
การเสนอ พรก.เงินกู้ หรือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เป็นผลมาจากการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19อย่างรุนแรงและยังไม่มียารักษา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยต่อประชาชนอย่างเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงต้องดำเนินการต่างๆเพื่อควบคุมการระบาด ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรงและรวดเร็ว โดยไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยติดลบ 1.8% โดยภาคบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด มีผลกระทบต่อรายได้ของประเทศลดลงถึง 9.28 แสนล้านบาท โดยไตรมาสสองจะปรับตัวลดลงรุนแรงมากขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แม้การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลจะได้พยายามดำเนินการตามกรอบงบประมาณปัจจุบันและปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ยังไม่เพียงพอและไม่ทันกับสถานการณ์เพื่อเยียวยาประชาชน ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อเยียวประชาชนและสร้างระบบสาธารณสุขให้มีความเชื่อมั่น การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เงินประมาณ 1ล้านล้านบาท ตาม พรก.เงินกู้ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเท
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลตระหนักถึงข้อห่วงใยต่อการรักษาวินัยการเงินและความโปร่งใส 1.ให้กระทรวงคลังโดยครม.มีอำนาจกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท 2.ต้องนำเงินไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในพระราชกำหนด อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีความจำเป็นคณะรัฐมนตรีมีอำนาจปรับแก้การใช้เงินได้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 3.กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองและอนุมัติโครงการ 4.การดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดจะเป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ 5.กระทรวงการคลังจะต้องทำรายงานการใช้เงินเสนอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ โดยในรายงานจะต้องครอบคลุมทั้งการกู้เงิน วัตถุประสงค์การใช้เงิน และผลสัมฤทธิ์ของการใช้งบประมาณ
นายกฯ กล่าวถึง พรก.เงินกู้ อีกว่า ในการตราพระราชกำหนดปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งผลต่อสถานะการชำระหนี้ของประเทศ การกู้เงินในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท รวมกับการกู้เงินในกรณีอื่นแล้วจะไม่กระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะ โดย ณ สิ้นเดือนก.ย.ปี 2564 หนี้สาธารณะจะมีสัดส่วน 57.96 %ต่อจีดีพี ซึ่งไม่เกินกรอบ 60% ตามกฎหมาย โดยการกู้เงินจะกู้เงินในประเทศเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันจะพิจารณาเงื่อนไขและต้นทุนการกู้เงินจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง หากสภาพคล่องในประเทศไม่เพียงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับปริมาณเงินในระบบของตลาดการเงินภายในประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา สภา ถก พรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน
เปิดสภาวันแรก ฝ่ายค้านอัดยับ พรก.เงินกู้
"ส่วนการชำระหนี้นั้นกระทรวงการคลังได้วางแผนเป็นระบบเพื่อกระจายความเสี่ยงและควบคุมต้นทุนให้เหมาะสม นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความโปรงใส รัฐบาลจึงได้กำหนดกระบวนการกลั่นกรองโครงการผ่านกลไกต่างๆที่จะต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้พระราชกำหนดเท่านั้น" พลเอกประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้เกิดการสร้างระบบสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ จำเป็นต้องตราพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบต่อไป