เป็นที่น่าสนใจอย่างมากกับการขอใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท
จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563 พบว่าหน่วยงานทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) องค์การมหาชน ได้ทำข้อเสนอโครงการให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา 34,263 โครงการ วงเงิน 841,269 ล้านบาท เกินกรอบวงเงินที่ว่างไว้สำหรับฟื้นฟูประเทศ ไปถึง 441,269 ล้านบาท
มีความเป็นห่วงกันว่า การใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมทั่วประเทศ จะใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ปราศจากการทุจริตคดโกงหรือไม่
ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ตื่นตัว “เกาะติด” เพื่อป้องกันไม่ให้มีการ “ทุจริต” งบประมาณแผ่นดินเกิดขึ้น
สภาตั้งกมธ.ตรวจสอบ
หน่วยงานแรก ในส่วนของ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติด ตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตาม พ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท จำนวน 49 คน
แบ่งเป็นสัดส่วนของรัฐบาล 12 คน พรรคการเมือง 37 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 10 คน, พลังประชารัฐ 9 คน, ภูมิใจไทย 5 คน, ก้าวไกล 4 คน, ประชาธิปัตย์ 4 คน, ชาติไทยพัฒนา 1 คน, เสรีรวมไทย 1 คน, ประชาชาติ 1 คน, เศรษฐกิจใหม่ 1 คน
ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคท้องถิ่นไท ได้สัด ส่วน 1 คน ทั้งนี้ให้กำหนดเวลา 120 วันในการพิจารณา
กมธ.วุฒิสภา 26 คณะ
ด้านสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยว่า วุฒิสภา ได้พิจารณาถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมทั่วประเทศ 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ได้มีมติให้ “วุฒิสภา” ดำเนินการ 4 ประการ เพื่อพิทักษ์เงินแผ่นดินให้ใช้อย่างคุ้มค่าปราศจากการคดโกงทุกรูปแบบ โดยมีความเห็นร่วมกันคือ ให้คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาทุกคณะ 26 คณะดำเนินการตรวจสอบติดตามเรื่องนี้อย่างรอบด้าน กว้างขวาง และเต็มกำลัง ตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ โดยให้ถือเป็นภารกิจพิเศษและเร่งด่วน
“อย่าให้คนโกงมีที่ยืน ให้เงินแผ่นดินทุกบาททุกสตางค์ใช้ไปอย่างคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ และต้องไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในทุกรูปแบบ”
นอกจากนี้ จะดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบงบประมาณเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกคณะ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานร่วมกันของวุฒิสภาทั้ง 250 คน พร้อมตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และข้อเสนอแนะจากประชาชนทั่วประเทศ
พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธาน กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยว่า จะตรวจสอบการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณ ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และ อปท. ทั้งนี้ หากประชาชนมีเบาะแสหรือตรวจพบการทุจริต ประพฤติมิชอบของหน่วยงานของรัฐ สามารถแจ้งข้อมูลให้ กมธ.ได้ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-831-9182 โทรสาร 02-831-9183 หรือช่องทางอีเมล์ senate [email protected]
ปปช.จับตาพิเศษ
ด้านสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบทันทีที่โครงการต่างๆ ได้รับการอนุมัติ
สำหรับการตรวจสอบงบประมาณที่ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หากมีการร้องเรียนหรือเป็นคดี ป.ป.ช.จะยกเป็นคดีเร่งด่วน ที่ต้องตรวจสอบทันที เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก ต้องตรวจสอบและเห็นผลของคดีทันที
ขณะเดียวกันจะมีการตั้ง “เว็บไซต์เฉพาะกิจ” ขึ้นมา เพื่อตรวจสอบการใช้เงินกู้
ป.ป.ท.-ศอตช.ร่วมเกาะติด
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะกลไกของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และในฐานะฝ่ายเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคสังคม ภาคเอกชน และประชาชนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อ ครม. ได้เสนอกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือ
1. การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส เปิดให้ภาค ประชาชน ภาคเอกชน ร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตทางเว็บไซต์และจุดบริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง และทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ให้ ศอตช. เป็นศูนย์กลางประสานการดำเนินงาน
2. การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต โดย ศอตช.ทำการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการที่มีความเสี่ยงการทุจริตสูง เพื่อแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการทุจริต
3. การตรวจสอบ ให้ ศอตช.ทำการตรวจสอบเมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือมีเบาะแสการทุจริต
4. การดำเนินมาตรการทางปกครองวินัย และอาญา เมื่อมีข้อร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสการทุจริต
เครือข่ายปชช.77 จังหวัด
ด้าน “เครือข่ายภาคประชาชน” ก็ได้ระดมกำลังกันติดตามตรวจสอบการใช้งบ 4 แสนล้านล้านบาท
โดย “ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย” และภาคีเครือข่าย ชมรม Strong จิตพอเพียงต้านทุจริต 77 จังหวัด ร่วมกันแสดงเจตจำนงในการเฝ้าระวังติดตาม ตรวจสอบ และช่วยกันเปิดเผยข้อมูล เมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติในการดำเนินโครงการในทุกพื้นที่ ทุกโครงการ ตามแนวทางการป้องกันการทุจริตเชิงรุก เพื่อให้การใช้งบประมาณในครั้งนี้ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีความโปร่งใส คุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,585 หน้า 10 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน 2563