24 มิถุนายน 2475 เป็นวันที่ประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยจำกัดอำนาจ” ก่อนจะมาเป็น “ประชาธิปไตย” ในเวลาต่อ ด้วยการยึดอำนาจของคณะราษฎร จากพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
จากวันนั้น จนถึงวันนี้ 24 มิถุนายน 2563 กาลเวลาผ่านมาแล้ว 88 ปี แต่ “ประชาธิปไตยไทย” ก็ยังล้มลุกคลุกคลาน มีการ “รัฐประหาร” อยู่เนืองๆ
“ฐานเศรษฐกิจ” ขอพาท่านผู้อ่าน ไปฟังมุมมอง ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปัจจุบันดำรงตำแห่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ย้อนเหตุการณ์คณะราษฎร์ยึดอำนาจ
ศ.ดร.นครินทร์ ให้มุมมองต่อเส้นทางประชาธิปไตยของไทยกว่า 8 ทศวรรษ ที่ผ่านมา โดยพาย้อนกลับไปรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดการยึดอำนาจโดยคณะราษฎร จากนั้นคณะราษฎรได้ทำคำกราบบังคมทูลอัญเชิญพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 ให้ตอบรับกลับมาเป็น “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “ระบอบราชาธิปไตยจำกัดอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ” ก่อนที่การปกครองของไทยจะใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ในเวลาต่อมา
ในห้วงเวลาหลังจากนั้น ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบแล้วใช่หรือไม่ ศ.ดร.นครินทร์ อธิบายพร้อมกับมีคำถามให้ขบคิดตามมาว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ในวันนั้น การปกครองของไทยยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศมีอำนาจสมบูรณ์ เป็นการปกครองโดยพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ดังนั้น การจะเคลื่อนสู่ระบอบการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ด้วยคนทั้งหมดนั้นจะทำได้อย่างไร?
ผมเข้าใจว่า เวลานั้นผู้ที่นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัญญาชน คนที่มีความรู้ทางการเมืองการปกครองระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” จึงใช้คำว่า “ระบบราชาธิปไตยจำกัดอำนาจ ซึ่งมี 2-3 วิธีการที่สำคัญ คือ
การจำกัดอำนาจพระองค์ด้านการบริหาร ซึ่งก่อนวันที่ 24 มิถุนายนนั้น พระมหากษัตริย์จะเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร ประทับต่อหน้าที่ประชุมเสนาบดีสภา (ปัจจุบันคือที่ประชุมคณะรัฐมนตรี) โดยใช้ทับศัพท์ว่า เป็น “Prime minister”
วิธีที่ 2 คือ การจำกัดพระราชอำนาจด้านนิติบัญญัติ หรือการตรากฎหมาย โดยการโอนพระราชอำนาจส่วนนี้ไปไว้ที่ “สภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งหลังการยึดอำนาจในวันนั้น 2-3 วันถัดมาได้มีการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นการชั่วคราว มีสมาชิกประมาณ 70 คน ต่อมาจึงมีสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งอย่างละครึ่ง
สุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การจำกัดพระราชอำนาจโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ส่วนคำว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้น มาใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475
อย่างไรก็ดี การจำกัดพระราชอำนาจดังกล่าวนั้น วิเคราะห์ว่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การปกครองโดยคนหมู่มากเท่านั้น โดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เรียกห้วงเวลาตั้งแต่ปี 2475- 2489 นี้ว่า “ระบบกึ่งประชาธิปไตย”
สิ่งที่คณะราษฎรทำนั้นจึงเป็นแค่กึ่งประชาธิปไตย เป็นระบบราชาธิปไตยจำกัดพระราชอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ
ความพยายามที่จะเดินทางไปสู่ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” นั้น ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
โดย ศ.ดร.นครินทร์ เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบมีข้อจำกัด” หรือ limited democracy น่าจะเข้ากับสถานการณ์ดีกว่า เนื่องจากมองว่า มีองค์ประกอบบางส่วนที่ยังรอระยะเวลาอยู่ เช่น การเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพ ความพร้อม การจัดการการปกครองท้องถิ่น ภาคประชาสังคม การรวมตัวกัน การใช้สิทธิเสรีภาพ รวมถึงระบบการควบคุมดูแลตรวจสอบ เป็นต้น
ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ศ.ดร.นครินทร์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงพัฒนาการของระบบประชาธิปไตยของไทย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า ระบบประชาธิปไตยของไทย ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง มีทั้งย้อนแย้ง ขัดแย้ง ขณะที่บางครั้งก็ดูเหมือนจะทะยานขึ้น แต่สุดท้ายแล้วกลับม้วนตัวลงซึ่งก็มีลักษณะเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง
แต่การหมุนวนกลับไปในแต่ละครั้งนั้น ไม่ได้วนกลับไปยังจุดเดิม เนื่องจากมีหลายเรื่องที่จบไปแล้ว หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เช่น ประเทศไทยควรมีรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ไม่ทราบว่า รัฐธรรมนูญของเราจะมีหน้าตาอย่างไร รวมถึงการเป็นประเทศปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น
“ผมเชื่อว่าจะไม่วนกลับไปที่เดิม ประชาธิปไตยของเราได้วิวัฒนาการมาตามชะตากรรมของเราเอง เช่น ประชาธิปไตยแบบไทยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่ท่านใช้อำนาจตามมาตรา 17 เต็มที่และก็ใช้ชนิดที่เรียกว่า รุนแรงด้วย มียิงเป้า ประหารชีวิตคนเป็นจำนวนมาก ขณะที่วันนี้เราก็วิวัฒนาการไปอีกแบบหนึ่งซึ่งเราต้องพยายามหาจุดสมดุลในอำนาจของฝ่ายต่างๆ ของเราเอง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"24 มิถุนายน" บิ๊กตู่ สั่งคุ้มกันเข้ม 24 ชม.ทุกหน่วยงาน
“24 มิถุนายน” กลุ่มฟื้นฟูฯจัดกิจกรรมย้อน88ปีคณะราษฎร
“ประชาธิปไตย”ไม่ใช่แค่มีส่วนร่วม
ศ.ดร.นครินทร์ ให้มุมมองอีกว่า คนทั่วไปเข้าใจนิยามของ “ประชาธิปไตย” ว่า คือประชาชนมีส่วนร่วมกับการปกครองประเทศ ซึ่งการมีส่วนร่วม ในที่นี้ต้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย เมื่อรู้สึกเช่นนั้นแล้วก็ต้องเข้าไปทำงานรับผิดชอบในบางภารกิจที่สามารถรับผิดชอบได้
ดังนั้น การมีส่วนร่วมจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำว่า ประชาธิปไตย ทั้งหมดต้องทำเพื่อประชาชน “ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ต้องมองให้ครบทั้ง 3 ส่วนนี้
สำหรับอนาคตของเส้นทางประชาธิปไตยของไทยนั้น ศ.ดร.นครินทร์ ชี้ว่า เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญใหม่ได้บัญญัติเอาไว้ ในส่วนของระบบการเลือกตั้งก็อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในขณะที่เรื่องของสิทธิเสรีภาพยังคงมีอยู่ ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่ได้ด้อยลงจากเดิม ที่ต้องรอดู คือ การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนว่า จะวิวัฒนาการไปอย่างไร ขณะที่การปกครองท้องถิ่น ระบบราชการก็ต้องปรับตัวกันใหม่ ส่วนภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมนั้นต้องปรับตัวอย่างมาก
“ต้องดูกันต่อไปว่า การปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ นั้นจะไปในหนทางใด การใช้อำนาจของส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน สมาคม พรรคการเมือง ประชาชน ส่วนต่างๆ ภาครัฐ ภาคเอกชนจะสามารถดำเนินไปโดยสมัครสมานสามัคคี แล้วทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุขได้หรือไม่ อย่างไร ถ้าเกิดความสมดุลได้ เราก็พอจะเรียกได้ว่า เป็นประชาธิปไตย ทุกอย่างก็ยังมีเหมือนเดิม แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีบางเรื่องที่ถูกจำกัดลง และบางเรื่องที่ได้เพิ่มขึ้นมาในระบบการเมืองไทย”
ศ.ดร.นครินทร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้เรียกได้ว่า ประเทศไทยได้ประชาธิปไตยกลับมาแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ประชาธิปไตยที่ได้กลับมานั้นจะยั่งยืนมั่งคงหรือไม่ เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วไม่ได้หมายความว่า จะกลับไปเหมือนเดิมอีกไม่ได้ ต้องใช้เวลาพิสูจน์กันอีกว่า คนที่มาใช้สิทธินั้นหวงแหนในประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด จะช่วยกันประคับประคองระบบการปกครองให้อยู่ในระบบมีความสมัครสมานสามัคคี ทำงานปรองดองกันไปได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป
“ยอมรับว่าการเลือกตั้ง เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ หรืออย่างน้อยที่สุดในระบบประชาธิปไตยทั่วไป ควรต้องมีการเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องมาจากประชาชน ผมขอหมายเหตุตรงนี้ไว้ เพราะการเลือกตั้งมี 108 ระบบ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังเป็นปัญหาวุ่นวายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การเลือกตั้ง ถือเป็นจุดหรือรอยต่อที่สำคัญ” ศ.ดร.นครินทร์ กล่าวทิ้งท้าย