การประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.) พรรคชุดใหม่ ตำแหน่งสำคัญ ๆ เป็นไปตามคาด เมื่อที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ เลือก บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ แบบไร้คู่แข่ง เพราะมีการเสนอเพียงรายชื่อเดียว
ขณะที่ นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล เป็นเหรัญญิกพรรค และ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ เป็นนายทะเบียนพรรค
ส่วนกรรมการบริหารพรรคใหม่อีก 23 คน ประกอบด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นายวิรัช รัตนเศรษฐ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายสุชาติ ชมกลิ่น นายอิทธิพล คุณปลื้ม
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นายสุพล ฟองงาม นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ นายชาญวิทย์ วิภูศิริ นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ นายนิโรธ สุนทรเลขา นายไผ่ ลิกค์ นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ นายสุรชาติ ศรีบุศกร นายนิพันธ์ ศิริธร นางประภาพร อัศวเหม และ นายสกลธร ภัททิยกุล รวมทั้งสิ้น 27 คน
สำหรับคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่นี้ ไม่มีชื่อ “4 กุมาร” อันประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง อดีตหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน อดีตเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรค และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯ อดีตกรรมการบริหารพรรค ร่วมอยู่ในทีมบริหารแต่อย่างใด
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
เกิดคำถามว่า เมื่อ “4 กุมาร” ไม่มีรายชื่ออยู่ในคณะผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐแล้ว อนาคตของพวกเขาทั้ง 4 คน จะเป็นเช่นไร
ในแนวทางที่เป็นไปได้สำหรับอนาคตของ “4 กุมาร” เป็นไปได้ 4 แนวทาง ดังนี้
1.ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
2.ลาออกจากรัฐมนตรี
3.ร่วมกันตั้งพรรคการเมืองใหม่ เดินหน้าทำงานการเมืองต่อ
4.กลับบ้านพักผ่อน ยุติเส้นทางการเมือง
จาก 4 แนวทางดังกล่าว ไปดูแนวทางที่ 1 ลาออกจากสมาชิกพรรค แนวทางนี้ “มีโอกาสเป็นไปได้สูง” เพราะในเมื่อหลายๆ คนในพรรคไม่ต้องการ แถมออกมาขับไล่ไม่ไว้หน้า จะอยู่ไปทำไม?
ส่วนแนวทางที่ 2 เรื่องการลาออกจากรัฐมนตรี แนวทางนี้โอกาสน่าจะ "เป็นไปได้น้อย" เพราะภายหลังการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ จบลง ทั้ง นายอุตตม และ นายสนธิรัตน์ ได้ออกมาประสานเสียงเหมือนกันว่า ขอเดินหน้าทำงานต่อในฐานะ “รัฐมนตรี” ส่วนจะถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี
สำหรับแนวทางที่ 3 ตั้งพรรคการเมืองใหม่ และเดินหน้าทำงานต่อ แนวทางนี้ ก็ “มีโอกาสเป็นไปได้สูง” แต่คงไม่ใช่จะตั้งพรรคขึ้นใหม่ในเร็ว ๆ นี้ เพราะการเลือกตั้งคงยังไม่มาถึงในเร็ววัน
ขณะที่แนวทางสุดท้าย กลับบ้าน ยุติเส้นทางการเมือง แนวทางนี้ ว่ากันว่า "เป็นไปได้น้อย" เพราะส่วนใหญ่คนที่เข้ามาเล่นการเมืองแล้ว น้อยคนนักที่จะเลิกเล่นง่าย ๆ แถมยังเคยทำงานผ่านตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งในพรรคการเมือง และตำแหน่งในเชิงบริหารมาแล้ว
ดูๆ แล้ว เหลือ 2 แนวทางที่ “4 กุมาร” จะวางอนาคตของตัวเอง คือ ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และเดินหน้าทำงานการเมืองต่อ ด้วยการตั้งพรรคใหม่ในอนาคต
ส่วนแนวทางที่ทั้ง 4 คน จะเลือกเดินอย่างไร ไม่นานเกินรอ คงได้รู้กัน...