นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)ตอบกระทู้ถามพลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลเรื่องเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง หลังจากครม.อนุมัติช่วยเหลือจำนวน 6,781,881 คน ซึ่งโดยสรุปแล้ววงเงินที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางมีทั้งหมดเท่าไร การกำหนดแผนและโครงการกิจกรรมจะทำอย่างไร และจะดำเนินการชดเชยกับผู้มีสิทธิให้ครบถ้วนและไม่ให้เกิดปัญหา มีระบบการจัดสรร การรับเงิน รวมทั้ง การร้องเรียนในกรณีล่าช้าและการแสดงสิทธิอย่างไรบ้าง
ต่อกระทู้ดังกล่าว นายจุติ ได้ชี้แจงว่า กระทรวงพม.มีแนวคิดว่ากลุ่มเปราะบางควรจะได้รับสิทธิอย่างเต็มที่ จึงได้เสนอขออนุมัติการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมเดือนละ1,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยขอแบบถ้วนหน้าจำนวน 13 ล้านคน(ฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางที่กระทรวงฯมีทั้งหมด) ประกอบด้วย 1. กลุ่มเด็กที่ได้รับสิทธิโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการดูแลเลี้ยงดูแรกเกิด 2. กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ 3. กลุ่มคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ
โดยกระทรวง พม. ไม่ได้พิจารณาความซ้ำซ้อนกับการช่วยเหลือเยียวยาด้านอาชีพ จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอื่นๆของกระทรวงการคลัง แต่เนื่องจากกระทรวง พม. มิได้เป็นผู้มีสิทธิชี้ขาดในการใช้เงินงบประมาณก้อนนี้ เพราะต้องเข้าไปสู่กระบวนการของคณะกรรมการซึ่งมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ,กระทรวงการคลัง และกระทรวงอื่นๆรวมไปถึงสำนักงบประมาณที่ต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เชื่อว่าข้าราชการทุกคนอยากให้เงินเยียวยากับทุกกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณและการกู้เงิน ที่ต้องไม่ให้เป็นภาระของประชาชนทั่วไปที่จะไปช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งทุกหน่วยงานพยายามใช้จ่ายเงินให้เกิดความคุ้มค่าและไม่ซ้ำซ้อน อีกทั้งตามปกติแล้วกลุ่มเด็กแรกเกิด กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการ จะได้รับเงินอุดหนุนอยู่แล้วเป็นรายเดือนอยู่แล้วแต่ที่เราขอนั้นเป็นการกรณีพิเศษเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 "
นายจุติ ได้ตอบข้อซักถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนของกลุ่มเปราะบางที่อนุมัติว่ามีเท่าไร และการดูแลกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มชายขอบ กลุ่มตกหล่นในปัจจบุันเป็นอย่างไรบ้าง โดยชี้แจงว่างบประมาณที่นำมาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งหมดนั้นอยู่ในวงเงิน 20,345,643,000 บาท แบ่งเป็น เด็กในครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจํานวน 1,394,756 คน ,ผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จํานวน 4,056,596 คน และ ผู้พิการที่มีบัตรประจําตัวผู้พิการ จํานวน 1,330,529 คน
ขณะเดียวกันกระทรวงพม.ได้เตรียมการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 โดยได้จัดทีม One Home พม. ในแต่ละจังหวัดและให้ทุกหน่วยงานของกระทรวง พม. ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนกลุ่มเป้าหมายตามหมู่บ้านและชุมชน พร้อมกับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ทำงานร่วมกันกับทีม One Home พม. จังหวัด และรายงานมายังกระทรวง พม. ทุกสัปดาห์ ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และปัญหาอะไรบ้างที่แก้ไขไปแล้ว และที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ทั้งนี้ได้มอบนโยบายให้ข้าราชการกระทรวง พม. ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการถึงชำนาญการพิเศษ(ระดับ ซี 3-8) จำนวน 500 กว่าคนลงพื้นที่หมด 1 คนต่อ 1 หน่วยงาน จัดทีมลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ตรงจุด ประชาชนคนไหนที่ไม่ได้ขึ้นบัญชี จะแนะนำให้มาขึ้นบัญชี เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมต่างๆ จากภาครัฐ
"ในช่วงที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ซึ่งพบว่ายังมีคนที่ยากจนและยังเข้าไม่ถึงสิทธิอยู่ จึงได้ดำเนินการช่วยเหลือให้เข้าถึงสิทธิ ทั้งการลงทะเบียนโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รวมถึงการขึ้นทะเบียนคนพิการ ซึ่งการลงพื้นที่แต่ละครั้งนั้นไม่ได้ลงไปเพียงแค่แจกถุงยังชีพ แต่ลงไปเพื่อดูแลสิทธิของพวกเขา นอกจากนั้นแล้วก็บูรณาการกัน 8 กระทรวงฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือ และจัดหาส่วนต่างๆ ส่วนกลุ่มคนตกหล่นก็จะมีเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยฉุกเฉิน ซึ่งทางกระทรวงจะจัดหางบประมาณให้ตามความเหมาะสม นอกจากนั้่นแล้วกระทรวงฯได้ตัดงบประมาณบางส่วนเพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งหมด"