ครม.เห็นชอบกู้เงิน ADB วงเงิน 48,000 ล้านบาท

04 ส.ค. 2563 | 08:39 น.

ครม.เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้โควิด-19 วงเงิน 48,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาเอเชีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ว่า ครม.เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในนามรัฐบาลไทยจาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ (เท่ากับ 48,000 ล้านบาท) เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของหนี้รัฐบาลที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และกระทรวงการคลังสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ โดยสัญญาเงินกู้ฯ ฉบับดังกล่าว มีกำหนดลงนามกับ ADB ภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

ความจำเป็นในการกู้เงินครั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังคาดว่า ในระยะต่อไปสภาวะตลาดการเงินภายในประเทศของไทยจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น โดยภาคเอกชนมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และรัฐบาลยังคงต้องใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

520 ล้านกล่องเคว้ง นมโรงเรียน ลุ้นครม.ไฟเขียวช่วย4พันล.

ยันนายกยังไม่เคาะชื่อ"โฆษกรัฐบาล"วาระครม.วันนี้

นายกฯเปิดเวที รับฟัง “คนรุ่นใหม่”เดือนนี้

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในประเทศและต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐและเอกชน กระทรวงการคลังจึงเห็นควรกระจายการกู้เงินไปยังแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ

สำหรับสาระสำคัญของร่างสัญญาเงินกู้ฯ มีดังนี้ 
1.ผู้กู้คือกระทรวงการคลัง ผู้ให้กู้คือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) 
2.วงเงินกู้รวม 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 48,000 ล้านบาท คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ 
3.อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว โดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารของตลาดลอนดอน (LIBOR) ระยะเวลา 6 เดือน บวกด้วยส่วนต่างร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยของวงเงินกู้คงค้างทุก 6 เดือน คือ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ และวันที่ 15 สิงหาคม
4.ค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ อัตราร้อยละ 0.15 ต่อปี ภายหลัง 60 วันนับจากวันที่ลงนามในสัญญาเงินกู้ของวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย โดยชำระค่าธรรมเนียมพร้อมกับการชำระดอกเบี้ย

5.การชำระคืนต้นเงินกู้ แบ่งเป็น 2 วงเงิน ดังนี้ 
วงเงินที่ 1 วงเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุเงินกู้ 10 ปี รวมระยะเวลาปลอดการชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืนโดยแบ่งเป็น 14 งวด งวดละ 35.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15  สิงหาคม 2566 และชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2573
วงเงินที่ 2 วงเงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุเงินกู้ 5 ปี รวมระยะเวลาปลอดชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืนโดยแบ่งเป็น 4 งวด งวดละ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568


6.ระยะเวลาสิ้นสุดการเบิกจ่ายเงินกู้ภายใน 30 มิถุนายน 2564
7.เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อใช้ในโครงการแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้พระราชกำหนดฯ โดยไม่เป็นโครงการแผนงานที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการของ ADB

 

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากการกู้เงินจาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในครั้งนี้แล้วจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด จะเท่ากับ 2.46 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 10 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2563) และกระทรวงการคลัง จะดำเนินการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อภาวะตลาดเอื้ออำนวยต่อไป