เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ได้เป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน” ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ชื่อเล่นว่า แหม่ม เกิดวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อายุ 46 ปี ผ่านประสบการณ์ทำงานเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า และเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี 7 ราย
ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ ต้องปลอดยี้ นำพาประเทศ
สเปก ‘โฆษกรัฐบาล’ กับ บันไดทางการเมือง
ก่อนต่อมาได้รับการชักชวนจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้มาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์) ภายหลังลาออกเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป
งานการเมืองได้เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 ของพรรคและได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาภายหลังลาออกจากตำแหน่งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และจากนั้นได้ลาออกจากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงแรงงาน พบว่า นางนฤมล เป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ก้าวขึ้นมาเป็น “รัฐมนตรี” นับตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (ชื่อเดิม) ตั้งแต่ พ.ศ. 2536
คนแรกได้แก่ นางอุไรวรรณ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 2 สมัย ช่วงแรก 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ในยุคที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และสมัยที่สอง 24 กันยายน พ.ศ. 2551 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ช่วงที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็น นายกรัฐมนตรี
นางอุไรวรรณ เทียนทอง เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 ปัจจุบัน อายุ 78 ปี สมรสกับนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช สำเร็จการศึกษาพาณิชยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบัญชีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มีบุตร 6 คน ได้แก่ สรวงศ์ เทียนทอง ส.ส.จังหวัดสระแก้ว สุรศักดิ์ เทียนทอง รับราชการตำรวจ สุรเกียรติ เทียนทอง ประธานบริษัท เคเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป สุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 11 อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ ไทยเบฟเวอเรจ (เบียร์ช้าง)
สิริวัลย์ เทียนทอง จตุฤทธิ์ เทียนทอง
การทำงาน อุไรวรรณ เทียนทอง เริ่มต้นรับราชการในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งอาทิ เสมียนตราจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก นนทบุรี และดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการส่วนการคลังท้องถิ่น กรมการปกครอง ในปี พ.ศ. 2540 และได้รับการเลื่อนตำแหน่งจนตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ ในปี พ.ศ. 2545 คือ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น (ระดับ 9) กรมการปกครอง
การเมือง หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว จึงหันเหเข้าสู่งานการเมือง โดยรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (คนแรก) ในรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกมองว่าเป็นการรับตำแหน่งในโควตาของนายเสนาะ เทียนทอง นอกจากนั้นยังได้ทำงานในด้านแรงงาน ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในสามรัฐบาล คือ รัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์[2]
คนที่สอง คือ นางปวีณา หงสกุล เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ช่วง วันที่ 5 ตุลาคม 2541 ถึง 9 กรกฎาคม 2542
นางปวีณา หงสกุล เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน อายุ 71 ปี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน บิดา คือ น.อ. (พิเศษ) เพิ่ม หงสกุล และมารดา คือ นางเกยูร หงสกุล
นางปวีณามีชื่อเล่นว่า "ปิ๊ก" เป็นน้องสาวของ อาภัสรา หงสกุล ผู้เป็น นางงามจักรวาลชาวไทยคนแรก มีบุตรชายคือ นายษุภมน หุตะสิงห์ ลงเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นได้เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตสายไหม เขต 1 เมื่อปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้มีน้องชายคือ นายฉมาดล หงสกุล ที่เป็น ส.ก. เขตสายไหม เขต 2 และ นายเอกภาพ หงสกุล เป็นประธานสภาเขตสายไหม อีกด้วย
นางปวีณา หงสกุล ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ทั้งสิ้น 6 สมัย (2531-2549) และดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการเมือง อาทิ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กำกับดูแลการท่องเที่ยว) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคหญิงคนแรกของพรรคชาติพัฒนา นางปวีณาเคยลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ในสังกัดพรรคชาติพัฒนา ได้เบอร์ 5 และครั้งที่ 2 คือ ในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 โดยไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ได้เบอร์ 7 อันเป็นเบอร์เก่าของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ คนก่อน ในการหาเสียงคราวนี้นางปวีณาใช้สีชมพูเป็นสีประจำตัว ซึ่งมีความหมายถึงความอ่อนหวานของผู้หญิง แต่ นางปวีณาต้องพบกับคู่แข่งคนสำคัญจากพรรคประชาธิปัตย์คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก่อนการลงคะแนน ความนิยมของทั้งคู่คี่สูสีกันมาก จนกระทั่งผลการเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่า นางปวีณาได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 มีคะแนนเสียงมากถึง 6 แสนกว่าคะแนน
หลังจากนี้ นางปวีณาได้เข้าสังกัดกับทางพรรคไทยรักไทย อันเนื่องจากพรรคชาติพัฒนาได้ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 นางปวีณาได้ลงเลือกตั้งในเขตสายไหมและได้รับการเลือกตั้งไปด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างคู่แข่งขันอย่างมาก เนื่องจากมีฐานเสียงอยู่บริเวณนี้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549[3] ภายหลังจึงได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคชาติไทย
ในกลางปี พ.ศ. 2552 ได้ออกมาเปิดเผยกับสังคมว่าป่วยเป็นมะเร็งทรวงอกมานานกว่า 5 ปี โดยที่ไม่มีใครทราบนอกจากคนในครอบครัว โดยได้ต่อสู้กับโรคนี้มาโดยตลอด จนเกือบหายเป็นปกติในปัจจุบัน
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร