เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนักเขียนนวนิยายชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊ก เนื้อหาระบุว่า
ที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เป็นของใคร
ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยกลุ่มประชาชนปลดแอกต้องการจะจัดการชุมนุมในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 แต่ทางคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯโดยอธิการบดีได้ปฏิเสธที่จะให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯเป็นที่จัดชุมนุม ทางผู้นำการชุมนุมก็ยังยืนยันที่จะเข้าไปจัดการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยฯให้ได้ โดยอ้างว่าเป็นสิทธิของพวกตน และชาวธรรมศาสตร์ และนำพวงหรีดไปวางที่อนุสาวรีย์ของดร.ปรีดี พนมยงค์ ในมหาวิทยาลัยฯ เพื่อขออนุญาตใช้สถานที่จัดการชุมนุม
ทำให้ผมอยากรู้ว่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นั้นเป็นที่ดินดั้งเดิมของใครและมาเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัธรรมศาสตร์ได้อย่างไร
จากการไปศึกษาหาข้อมูลจากหลายแหล่งที่เชื่อถือและมีหลักฐานพิสูจน์ได้ ผมขอสรุปความเป็นมาของที่ดินผืนนี้ โดยย้อนกลับไปถึงการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของอาณาจักรสยามแทนกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 และได้ทรงสถาปนาเจ้าพระยาสุรสีห์พระอนุชาเป็นพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ วังหน้า และได้ทรงพระราชทานที่ดินมีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงตอนตะวันตก อนุสาวรีย์ทหารอาสา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติในปัจจุบันเป็นบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลหรือที่ประทับวังหน้า
ได้มีกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 6 พระองค์ประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล โดยที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประทับที่พระราชวังแห่งนี้เป็นองค์สุดท้ายจนเสด็จทิวงคต ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการยุบตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระโอรสาธิราช สยามมงกุฏราชกุมารขึ้นแทนใน พ.ศ. 2429 ต่อมาพระราชวังบวรสถานมงคลได้กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจนถึงปัจจุบัน
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรขึ้นมามีอำนาจการปกครอง ได้นำพระราชวังหลายแห่งมาเป็นสถานที่ราชการ อาทิ วังสวนกุหลาบเป็นทำเนียบรัฐบาล และที่พักของผู้บัญชาการทหารบก วังปารุสกวัน และส่วนหนึ่งของบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งเดิมเป็นที่ดินของทหาร 49 ไร่ก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 27 มิ.ย. พ.ศ. 2477
ขอจบเรื่องราวความเป็นมาของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เพียงเท่านี้ครับ
อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการก่อตั้ง ศูนย์รังสิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้งบประมาณแผ่นดินหลายพันล้านบาทในขณะนั้นมีเงื่อนไขและข้อตกลงใดๆบ้างหรือเปล่าครับ ผู้ใดทราบและมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้กรุณาแจ้งให้ทราบด้วยครับ
ข่าวเกี่ยวข้อง
ฟัง ! "ปองพล" ย้อนที่ตั้ง มธ.ของใคร? (ตอน 2) เผย 19 ก.ย.วันพระราชสมภพ "พระยาเสือ"