ศาลรธน.รับวินิจฉัยปม“อานนท์-ไมค์-รุ้ง”ปราศรัยปฏิรูปสถาบัน

16 ก.ย. 2563 | 10:38 น.

ศาลรธน.รับวินิจฉัยปม“อานนท์-ไมค์-รุ้ง” ปราศรัย 10 ส.ค. ชู 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯขัดรธน.หรือไม่ สั่งชี้แจงภายใน 15 วัน พร้อมให้อัยการสูงสุดส่งหลักฐานเพิ่ม

 

วันนี้ (16 ก.ย.63) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49  เฉพาะในส่วนที่กล่าวหาการกระทำของ นายอานนท์ นำภา  นายภานุพงศ์ จาดนอก  และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง”  ที่ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถมีคำสั่งให้คณะบุคคลดังกล่าวเลิกการกระทำดังกล่าวได้ ไว้พิจารณาวินิจฉัย
 

โดยมีคำสั่งให้แจ้งนายณฐพร ผู้ร้องทราบและส่งสำเนาคำร้องให้กับผู้ถูกร้องทั้งสามเพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามายังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง รวมทั้งมีคำสั่งให้อัยการสูงสุดแจ้งผลการดำเนินการและส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่นายณฐพร ยื่นร้องเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 63 ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

ทั้งนี้กรณีคดีดังกล่าวนายณฐพร ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องซึ่งประกอบด้วยคณะบุคคลกลุ่มต่างๆ จัดการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 3,9,10,20,21,30 ส.ค. 63 ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ตนเองได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองแล้ว  จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยและมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง เอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า แม้นายณฐพร ขอให้ศาลวินิจฉัยการกระทำของคณะบุคคลกลุ่มต่างๆ ในการจัดการชุมนุมปราศรัย รวม 6 ครั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่ก็ตาม

 

แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายณฐพรได้ยื่นต่ออัยการสูงสุดขอให้พิจารณาเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับการชุมนุมปราศรัยของคณะบุคคลในวันที่ 10 ส.ค. 63 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  ซึ่งตามคำร้องระบุว่าการชุมนุมปราศรัยในวันดังกล่าวมีผู้กล่าวปราศรัย 3 คน ที่มีการกระทำตามที่นายณฐพรอ้างคือ นายอานนท์ นำภา  นายภานุพงศ์ จาดนอก  และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล   กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ที่นายณฐพร จะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนตามคำร้องที่กล่าวอ้างว่ามีการปราศรัยชุมนุมครั้งอื่น ไม่ปรากฏว่านายณฐพรได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดตามมาตรา 49 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับเฉพาะการกระทำของ นายอานนท์ นำภา  นายภานุพงศ์ จาดนอก  และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล  แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่ชุมุนมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63

 

สำหรับการปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ชื่อกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ซึ่งมีการประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อว่าด้วยการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์