วันนี้ (19 กันยายน 2563) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ได้นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ชัยชนะ บนซากแห่งความสูญเสีย” จากกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จากจำนวน 2,145 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-17 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 82.9% สนับสนุนประเด็นเนื้อหาที่ม็อบ 19 ก.ย. เรียกร้อง เช่น การแก้รัฐธรรมนูญและหยุดคุกคามประชาชน ในขณะที่ 17.1% ไม่สนับสนุน
ทั้งนี้ ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่หรือ 81.0% ระบุความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต้าน กับกลุ่มสนับสนุนม็อบ 19 ก.ย. ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ในขณะที่ 19.0% ระบุไม่ขัดแย้งรุนแรง นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือ 94.1% ระบุ ภาพอนาคตของประเทศจากความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เป็นภาพเดิมๆแห่งการสูญเสีย ฉายหนังซ้ำในอดีต ในขณะที่ 5.9% เท่านั้นระบุเป็นภาพใหม่ ที่จะดีต่อประเทศชาติ
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ เมื่อถามว่า ภาพสุดท้ายใครแพ้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือ 71.9% ระบุว่า ประเทศชาติแพ้ วิกฤติเศรษฐกิจหนักลงไปอีก ในขณะที่ 81.2% ระบุ ประชาชนส่วนใหญ่แพ้ อีก 6.7% ระบุว่า คนหยิบมือเดียวได้ประโยชน์ และ 3.2% ระบุอื่นๆ เช่น ทุกฝ่ายแพ้ไม่มีใครชนะ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่หรือ 17.0% สนับสนุนการลงถนน รวมตัวชุมนุม 19 ก.ย. ในขณะที่ส่วนใหญ่ หรือ 83.0% ไม่สนับสนุน
ที่น่าสนใจ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือ 90.4% ระบุว่า ประชาธิปไตยที่สงบสุขควรจบในสภาที่มีตัวแทนจากประชาชน ในขณะที่ 9.6% ระบุ จบลงที่การพากันลงถนนก่อชุมนุม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รับมือ "ม็อบธรรมศาสตร์" ทำเนียบฯงัดมาตรการคุมเข้ม
เปิด 14 จุด ตำรวจกว่า 8,500 นาย คุมม็อบ 19 ก.ย.นี้
นายกฯออก “แถลงการณ์" เตือนม็อบ อย่าจุดชนวนโควิดรอบ2-ซ้ำเติมเศรษฐกิจ
“ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนประเด็นเนื้อหาของม็อบ 19 ก.ย. เรื่องแก้รัฐธรรมนูญและหยุดคุกคามประชาชน แต่ไม่สนับสนุนการพาคนลงถนนก่อม็อบ เพราะกลัวประเทศชาติและตัวเองจะล่มจมลงไปอีกจากวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติโควิด-19 รอบใหม่ซ้ำเติมที่ประชาชนทั่วไปก็ทราบดีว่า ปัญหาทั้งสองเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลกแต่ประเทศไทยกำลังถูกฟื้นฟูให้สถานการณ์ดีขึ้นเหมือนคนป่วยขั้นโคม่าอาการเริ่มขยับตัว ตอบสนองได้บ้าง
ดังนั้น ทุกคนต้องถามตัวเองว่า ประเทศไทยเป็นของเราทุกคนหรือเป็นของคนในโลกโซเชียล และเมื่อเกิดความรุนแรงบานปลายขึ้นใคร คือ ผู้ล่มจม คนในโลกโซเชียลหรือคนไทยทุกคนทั้งประเทศและที่ต้องช่วยกันคิดต่ออีกว่า ภาพอนาคตของประเทศที่จะเกิดขึ้นเป็น ชัยชนะบนซากแห่งความสูญเสียหรือไม่” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล ระบุ